คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมอง
ทัศนีย์ อินทรสมใจ*, นุสรา เพชรบุตรSurgical and Orthopedic Nursing Division, Nursing Department, Siriraj Hospital, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงบรรยายภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองหลังได้รับการผ่าตัดและศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ ลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยด้านโรคกับคุณภาพชีวิต กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 – 2551 จำนวน 110 ราย โดยคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเนื้องอกสมอง (FACT-Br) การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวน(ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองหลังผ่าตัด มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 73.78 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 13.58 ) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา รายได้ มีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .16 และ .18 ตามลำดับ) ส่วนปัจจัยด้านโรค ได้แก่ การรักษาร่วม มีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .03) และเมื่อวิเคราะห์คะแนนคุณภาพชีวิตในแต่ละด้านพบว่า ระดับการศึกษา รายได้ มีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านสาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .01 และ .01 ตามลำดับ) และรายได้ ยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านการปฏิบัติกิจกรรมอีกด้วย (p = .03) สำหรับปัจจัยด้านโรค ได้แก่ ชนิดของการผ่าตัด และการรักษาร่วมมีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านสาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน (p = .02 และ .01 ตามลำดับ) ผลจากการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการจัดตั้งทีมสหสาขาเพื่อนำผลการวิจัยไปพัฒนากระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งระยะก่อนและหลังผ่าตัด โดยเน้นการให้ความรู้ ข้อมูลด้านโรคและการรักษาทั้งแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งพยาบาลควรประเมินสถานภาพทางเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิตและอาชีพของผู้ป่วยด้วย โดยให้ข้อมูลความรู้ในการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในขณะที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลและเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้าน และเป็นที่ปรึกษาหรือหาแหล่งช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย
ที่มา
วารสารพยาบาลศิริราช ปี 2554, January-June
ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 12-23
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Pituitary tumor, Pituitary adenoma, Transphenoidal approach, เนื้องอกต่อมใต้สมอง, การผ่าตัดทางโพรงจมูก