คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์ โรงพยาบาลศิริราช
พรฤดี นราสงค์*, ปิยธิดา ตรีเดช, วงเดือน ปั้นดี, ไชยยงค์ นวลยงMahidol University
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) ศึกษาแบบภาคตัดขวาง (Cross-Section Study) เพื่อประเมินระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์ โรงพยาบาลศิริราช และหาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการเจ็บป่วย ปัจจัยด้านแรงสนับสนุนทางสังคมกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์ โรงพยาบาลศิริราช กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์ ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2552 จำนวน 160 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ANOVA, Independent Sample t-test และ Pearson’s Product moment Correlation Coefficient
ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ พิจารณาคุณภาพชีวิตรายด้านพบว่า ความผาสุกทางด้านร่างกาย ความผาสุกทางด้านอารมณ์จิตใจอยู่ในระดับสูงมาก ความผาสุกด้านสังคม ความผาสุกทางด้านปฏิบัติกิจกรรม ข้อคำถามเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและแรงสนับสนุนทางสังคมโดยรวมอยู่ในระดับสูง และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตคือ ปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเจ็บป่วย ได้แก่ โรคประจำตัว การรักษาร่วม และปัจจัยด้านแรงสนับสนุนทางสังคม ข้อเสนอแนะ ผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้ให้บริการเพิ่มการประชาสัมพันธ์การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยวิธีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ป่วยให้มากขึ้น บริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวกับการผ่าตัดโดยวิธีหุ่นยนต์อย่างมี
ประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากและสนับสนุนการให้ความรู้ คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ประสานความร่วมมือกับผู้ป่วย ญาติ ทีมสหสาขาทางการแพทย์ส่งเสริมความสัมพันธ์เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคมโดยเฉพาะด้านเงิน-สิ่งของและด้านให้คำแนะนำปรึกษา
ที่มา
วารสารพยาบาลศิริราช ปี 2554, January-June
ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 43-55
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Social support, แรงสนับสนุนทางสังคม, Prostate cancer, มะเร็งต่อมลูกหมาก