ผลของการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
ผกามาศ วัฒกะวรรณ์
วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
บทคัดย่อ
 
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารในโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี กรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน พ.ศ. 2548 กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคกระเพาะอาหารที่เข้ารับการรักษา ณ หอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพบาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 30 คน ทำการสุ่มเข้ากลุ่มอย่างง่าย โดยกลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลสนับสนุนและให้ความรู้ ซึ่งสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ สื่อที่ใช้ในการให้การพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ประกอบด้วยภาพพลิก คู่มือการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร และจดหมายกระตุ้นเตือนการปฏิบัติตัว ซึ่งกลุ่มทดลองได้รับการสอนโดยการบรรยายประกอบภาพพลิกแบบรายบุคคล จำนวน 3 ครั้ง และได้ให้คู่มือการดูแลตนเอง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ผู้วิจัยได้ส่งจดหมายกระตุ้นเตือนการปฏิบัติตัวฉบับที่ 1 ให้แก่ผู้ป่วยและได้ส่งจดหมายกระตุ้นเตือนฉบับที่ 2 หลังจากส่งจดหมายฉบับที่ 1 ไปแล้ว 2 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร การวิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและหาความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Independent t-test
                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารที่ได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยรวมและค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองรายด้าน ซึ่งประกอบด้วยการดูแลตนเองที่จำเป็นโดยทั่วไป ด้านการดูแลตนเองที่จำเป็นตามพัฒนาการและด้านการดูแลตนเองที่จำเป็น เมื่อเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ สูงกว่าผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารที่ได้รับการพยาบาลปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
 
ที่มา
วารสารการพยาบาลและการสาธารณสุข วิทยาลัยเครือข่ายภาคกลาง 2 ปี 2549, January-June ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 10-17
คำสำคัญ
self care behaviors, education supportive nursing system, peptic ulcer patients, การพยาบาลระบบสนับสนุน, โรคกระเพาะอาหาร