ประสิทธิผลของการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกับวีดีทัศน์แสดงอาการถอนพิษสุราในผู้ป่วยที่มีภาวะเพ้อสับสนจากการขาดแอลกอฮอล์
นิอร คำเนตรDepartment of Psychiatry, Phra Nakhon Si Ayutthaya hospital, Phra Nakhon Si Ayutthaya province
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบ Randomized controlled trial เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเพ้อ สับสนจากการขาดแอลกอฮอล์โดยการรักษาด้วยการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกับวีดีทัศน์แสดงอาการถอนพิษสุรา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเพ้อ สับสน จากการขาดแอลกอฮอล์ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จำนวน 60 ราย แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 ราย โดยกลุ่มทดลองจะได้ชมวีดีทัศน์ที่บันทึกภาพของตนเองในขณะที่อยู่ในภาวะเพ้อ สับสนจากการขาดแอลกอฮอล์ ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการบำบัดด้วยวิธีเสริมสร้างแรงจูงใจรายบุคคล จำนวน 4 ครั้ง คือ สัปดาห์ที่ 0 (ครั้งแรกที่เข้าร่วมวิจัย), สัปดาห์ที่ 1, 6 และ 12 ประเมินผลการบำบัด โดยใช้แบบประเมินลักษณะการดื่ม (ปริมาณการดื่ม ร้อยละของจำนวนวันที่ดื่มหนัก ร้อยละของวันที่หยุดดื่ม) แบบวัดขั้นตอนความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและความต้องการการรักษา (SOCRATES-8A) แบบวัดผลกระทบจากสุรา (DrInC-2L) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา Independent t test และ ANOVA ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มไปในทางที่ดีกว่ากลุ่มควบคุมทั้งในแง่ ปริมาณการดื่ม ร้อยละของจำนวนวันที่ดื่มหนัก ผลกระทบจากสุราที่ลดลง จำนวนวันที่หยุดดื่มและแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่ได้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป : การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกับวีดีทัศน์แสดงอาการถอนพิษสุราในผู้ป่วยที่มีภาวะ
เพ้อจากการขาดแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการดื่ม ลดจำนวนวันที่ดื่ม เพิ่มอัตราการหยุดดื่ม ลดผลกระทบจากการดื่มสุรา ช่วยให้เกิดแรงจูงใจและมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่แตกต่างจากการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2554, May-August
ปีที่: 1 ฉบับที่ 2 หน้า 129-142
คำสำคัญ
video, Motivational Enhancement Therapy, alcohol withdrawal delirium, วีดีทัศน์ การบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ