คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชนบท อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ฉวีวรรณ บุญสุยา, ชุติเดช เจียนดอน, นพพร โหวธีระกุล, นวรัตน์ สุวรรณผ่อง*
Department of Public Health Administration, Faculty of Public Health, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
 
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นภาระต่อสังคมในการดูแล การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชนบท และหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคล ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชนบท เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิต SF-36 V2.0 สัมภาษณ์ผู้สูงอายุ จำนวน 478 คน ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน–31 กรกฎาคม 2553 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติไคสแควร์ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุมีความพอใจกับคุณภาพชีวิตด้านร่างกายร้อยละ 50.4 และพอใจด้านจิตใจร้อยละ 52.7 ปัจจัยที่สามารถทำนายคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย 6 ปัจจัย ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองภาวะสุขภาพ การเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม การศึกษา อาชีพและอายุ โดยสามารถอธิบายคุณภาพชีวิตด้านร่างกายได้ร้อยละ 30.5 ปัจจัยที่สามารถทำนายคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ 4 ปัจจัย ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ภาวะสุขภาพการเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม และสัมพันธภาพในครอบครัว โดยสามารถอธิบายคุณภาพชีวิตด้านจิตใจได้ร้อยละ 21.5 บุคลากรสาธารณสุขควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวองค์กรท้องถิ่นควรร่วมให้การส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุในชนบท
 
ที่มา
วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2554, September-December ปีที่: 41 ฉบับที่ 3 หน้า 229-239
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, SELF-ESTEEM, ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง, rural elderly, SF–36 questionnaires, ผู้สูงอายุในชนบท, แบบวัดคุณภาพชีวิต SF–36, คุณภาพชี่วิต