การเปรียบเทียบผลของละครจิตบำบัดและการบำบัดความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
พรภิมล เพ็ชรกุล*, นันทา สู้รักษา, จิตรา ดุษฎีเมธา
Guidance and Counseling Psychology, Faculty of Education, Srinakharinwirot University
บทคัดย่อ
 
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาเปรียบเทียบผลของละครจิตบำบัดและการบำบัดความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ที่มารับบริการที่กลุ่มงานจิตเวชแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ประชากรและกลุ่มตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่มารับบริการรักษาที่กลุ่มงานจิตเวช แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา และใช้แบบสอบถามเพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า (Thai Depression Inventory) เพื่อจำแนกผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าในระดับอ่อนและระดับปานกลางได้ จำนวน 14 คน และสอบถามความสมัครใจในการเข้าร่วมการทดลอง หลังจากนั้นจึงสุ่มเข้ากลุ่มอย่างง่ายโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ใช้ละครจิตบำบัด จำนวน 8 คน เป็นผู้มีภาวะซึมเศร้าระดับอ่อน จำนวน 2 คน มีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง จำนวน 6 คน ใช้เวลาประมาณ 60 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จำนวน 10 ครั้ง (5 สัปดาห์) กลุ่มที่ 2 ให้การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นรายบุคคล จำนวน 6 คน เป็นผู้มีภาวะซึมเศร้าระดับอ่อน จำนวน 2 คน มีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง จำนวน 4 คน ใช้เวลาประมาณ 60 นาที ต่อคนต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จำนวน 10 ครั้ง (5 สัปดาห์) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า (TDI: Thai Depression Inventory) โปรแกรมละครจิตบำบัด และโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ The Wilcoxon Matched Pairs Signed Ranks Test เพื่อเปรียบเทียบระดับคะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยก่อนและหลังได้รับโปรแกรมละครจิตบำบัดและเปรียบเทียบระดับคะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรม และใช้ The Mann Whitney U Test เพื่อเปรียบเทียบผลต่างของระดับคะแนนภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยที่ได้รับละครจิตบำบัดและได้รับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ผลการวิจัยพบว่า 1) ภายหลังการเข้าร่วมละครจิตบำบัดผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลงกว่าก่อนได้รับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญของสถิติที่ระดับ 0.05 2)ภายหลังการเข้าร่วมการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลงกว่าก่อนได้รับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3) ภายหลังการเข้าร่วมละครจิตบำบัด และการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าลดลงไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปี 2555, January-June ปีที่: 4 ฉบับที่ 7 หน้า 71-80
คำสำคัญ
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม, Psychodrama, Cognitive Behavior Therapy, Depressive Patients, ละครจิตบำบัด, ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า