ผลของโปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังผ่าท้องคลอด ต่อพฤติกรรมการให้นมบุตรและพฤติกรรมการดูดนมของทารก ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ประดับ ธรรมโชเต*, จิตใส ลาวัลย์ตระกูล
Songklanagarind Hospital, Songkhla Province
บทคัดย่อ
 
                วิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภายใน48 ชั่วโมง หลังผ่าท้องคลอด ต่อพฤติกรรมการให้นมบุตรและพฤติกรรมการดูดนมของทารก เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นแม่หลังผ่าท้องคลอดบุตรคนแรก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 52 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามปกติร่วมกับโปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ โปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประกอบด้วยคู่มือเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และวิซีดีเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล คือ 1)แบบวัดพฤติกรรมการให้นมบุตร ซึ่งประกอบด้วยแบบสอบถามความรู้เรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแบบสังเกตทักษะการให้นมบุตร และ 2)แบบสังเกตพฤติกรรมการดูดนมของทารก ตรวจสอบความตรงของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน หาค่าความเที่ยงของแบบวัดความรู้เรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยใช้ K-R 20 ได้ค่าเท่ากับ 0.84 ส่วนแบบสังเกตทักษะการให้นมบุตรและแบบสังเกตพฤติกรรมการดูดนมของทารก โดยวิธีใช้ผู้ประเมินร่วมกัน (inter-rater method) ได้ค่าความเที่ยง เท่ากับ 0.87 และ 0.88 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติที่อิสระ
                ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มควบคุมมีค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการให้นมบุตร อยู่ในระดับดี (M = 37.27, S.D. = 1.18) พฤติกรรมการดูดนมของทารกอยู่ในระดับดี (M = 10.31, S.D. = 3.97) ส่วนกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการให้นมบุตร อยู่ในระดับดีมาก (M = 54.00, S.D. = 1.94) พฤติกรรมการดูดนมของทารกอยู่ในระดับดีมาก (M = 15.77, S.D. = 5.75) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมการให้นมบุตรและพฤติกรรมการดูดนมของทารก พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -14.06, -6.73; p < 0.05)
                ผลการศึกษาครั้งนี้ โรงพยาบาลสามารถนำโปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปใช้ได้ทุกหน่วยหลังคลอด เพื่อเพิ่มคุณภาพการพยาบาลต่อไป
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปี 2554, May-August ปีที่: 31 ฉบับที่ 2 หน้า 17-32
คำสำคัญ
Cesarean section, breastfeeding promoting program, mother's breastfeeding behavior, infant's suckling behavior, โปรแกรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, ผ่าท้องคลอด, พฤติกรรมการให้นมบุตร, พฤติกรรมการดูดนมของทารก