ผลของการเตรียมความพร้อมตามความต้องการของมารดาต่อความพึงพอใจ และความวิตกกังวลของมารดาที่มีทารกเกิดก่อนกำหนดในหออภิบาลทารกแรกเกิด
บุษกร พันธ์เมธาฤทธิ์*, เนตรนภา เทพชนะ
Faculty of Nursing, Prince of Songkla University, Songkhla Province
บทคัดย่อ
 
การวิจัยเชิงทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาผลของการเตรียมความพร้อมตามความต้องการของมารดาต่อความพึงพอใจที่ได้รับการตอบสนองความต้องการและความวิตกกังวลของมารดาที่มีต่อทารกเกิดก่อนกำหนดในหออภิบาลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในภาคใต้ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง (n = 37) หรือกลุ่มควบคุม (n = 37) ด้วยโปรแกรมมินิไมเซชั่น กลุ่มทดลองได้รับการเตรียมความพร้อมตามโปรแกรมการเตรียมความพร้อมตามความต้องการของมารดา วันละ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติจากหออภิบาลทารก เก็บข้อมูลโดยใช้ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามความพึงพอใจที่ได้รับการตอบสนองความต้องการของมารดา และ 3) แบบสอบถามความวิตกกังวลของมารดาที่มีต่อทารก ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน หาความเที่ยงของแบบสอบถามชุดที่ 2 และ 3 ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของ ครอนบาค เท่ากับ 0.91 และ 0.93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย สถิติทดสอบไคสแควร์และสถิติที
ผลการวิจัย พบว่า ทั้ง 2 กลุ่ม มีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของมารดา หลังการทดลองสูงกว่า ก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 8.90, p = 0.000; t = 3.62, p = 0.001) และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -7.03, p = 0.000) สำหรับความวิตกกังวล พบว่า หลังการทดลองในกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -5.70, p = 0.000) ส่วนกลุ่มควบคุมไม่พบว่ามีความแตกต่าง กัน (t = -1.98, p = 0.056) เมื่อเปรียบเทียบต่างกลุ่มกัน พบว่า คะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลก่อนการทดลองไม่แตกต่างกัน (t = 0.49, p = 0.314) ส่วนหลังการทดลอง พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.70, p = 0.004) ดังนั้น พยาบาลควรนำโปรแกรมการเตรียมความพร้อมตามความต้องการของมารดาไปใช้กับมารดาที่มีทารกเกิดก่อนกำหนด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพการพยาบาลตามตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจและความวิตกกังวล
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปี 2555, May-August ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 1-22
คำสำคัญ
SATISFACTION, ความพึงพอใจ, Anxiety, ความวิตกกังวล, Premature infants, ทารกเกิดก่อนกำหนด, Maternal Needs Preparation, การเตรียมความพร้อมตามความต้องการของมารดา