ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของแปรงสีฟันชนิดขนแปรงปลายเรียวแหลมผสมปลายตัด
วิกุล วิสาลเสสถ์, จุฬาลักษณ์ เกษตรสุวรรณ*, อารีรัตน์ ผลิตนนท์เกียรติ, นนทินี ตั้งเจริญดี, สุรัตน์ มลคลชัยอรัญญา, กนกวรรณ พัฒนไพรสณฑ์Department of Oral medicine and Periodontics, Faculty of Dentistry, Mahidol University, 6 Yothi Street, Ratchathewi, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการกำจัดคราบจุลินทรีย์ การลดอาการเหงือกอักเสบ และความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากของแปรงสีฟันขนนุ่มปลายเรียวแหลมผสมปลายตัด 3 ชนิด กับแปรงสีฟันมาตรฐานขนนุ่มปลายมนของกรมอนามัย
วัสดุอุปกรณ์และวิธีการศึกษา: อาสาสมัคร 120 คน ถูกแบ่ง 4 กลุ่มด้วยวิธีไอโซดาต้าโดยใช้ค่าเฉลี่ยดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีสภาพเหงือก สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มแปรงสีฟันขนนุ่มปลายเรียวแหลมผสมปลายตัด 3 กลุ่ม และกลุ่มแปรงสีฟันมาตรฐานขนนุ่มปลายมนของกรมอนามัย 1 กลุ่ม ก่อนใช้แปรงสีฟัน 2 สัปดาห์ อาสาสมัครได้รับการขูดหินน้ำลาย ขัดฟัน และฝึกแปรงสีฟัน วิธีแปรงฟันแบบดัดแปลงจากวิธีของ Bass (Modified Bass technique) กำหนดให้อาสาสมัครแปรงสีฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันชนิดเดียวกัน และงดใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากอื่น อาสาสมัครงดทำความสะอาดฟันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อสะสมคราบจุลินทรีย์ก่อนการตรวจทุกครั้ง ผู้ตรวจบันทึกค่าดัชนีสภาพเหงือก ดัชนีเลือดออกที่เหงือก ดัชนีการเกิดแผลที่เหงือก ย้อมสีฟันด้วยสีเบสิกฟุคชินแล้วบันทึกค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ตามลำดับ จากนั้นอาสาสมัครแปรงสีฟันและยาสีฟันที่กำหนดให้นาน 3 นาที และตรวจวัดดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีการเกิดแผลที่เหงือกอีกครั้ง การตรวจครั้งที่สอง หลังใช้แปรงสีฟัน 2 สัปดาห์และครั้งที่สาม หลังใช้แปรงสีฟัน 4 สัปดาห์ ให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถามความพึงพอใจในแปรงสีฟัน เมื่อจบการศึกษา
ผลการศึกษา: แปรงสีฟันทั้ง 4 ชนิด มีประสิทธิภาพในการลดคราบจุลินทรีย์หลังการแปรงฟันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) กลุ่ม B หรือแบบที่ 1 มีประสิทธิภาพในการกำจัดคราบจุลินทรีย์โดยรวมได้ดีกว่าแปรงสีฟันมาตรฐาน กลุ่ม A (p < 0.05) ในสัปดาห์ที่ 4 กลุ่ม C และกลุ่ม D หรือแบบที่ 2 และ 3
ด้อยกว่าแปรงสีฟันมาตรฐานในการกำจัดคราบจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือกด้านใกล้ลิ้น (p < 0.05) ในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 กลุ่ม B, C, D หรือแปรงสีฟันทั้ง 3 ชนิด สามารถลดอาการเหงือกอักเสบ ลดตำแหน่งเลือดออกที่เหงือก และทำให้เกิดแผลที่เหงือกหลังการแปรงฟันได้ไม่แตกต่างจากแปรงสีฟันมาตรฐาน โดยแปรงสีฟันมาตรฐานทำให้เกิดแผลน้อยที่สุด แต่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) อาสาสมัครกลุ่ม D หรือแบบที่ 3 พึงพอใจมากที่สุดถึงร้อยละ 75
บทสรุป: แปรงสีฟันขนนุ่มปลายเรียวแหลมผสมปลายตัดทั้ง 3 ชนิด กำจัดคราบจุลินทรีย์ ลดอาการเหงือกอักเสบ ตำแหน่งเลือดออก ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและปลอดภัยต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล ปี 2554, January-April
ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 47-48
คำสำคัญ
bleeding, คราบจุลินทรีย์, slim mixed cut-end bristle toothbrush, dental plaque, gingival index, inflammatory gingival traumatic, แปรงสีฟันชนิดขนแปรงปลายเรียวแหลมผสมปลายตัด, สภาพเหงือกอักเสบ, แผลจากแปรงสีฟัน, สภาพเหงือกเลือดออก