ผลของค่ายโรคหืดต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคหืดและความรู้เรื่องโรคหืดของผู้ปกครอง
นาฏศิลป์ พิมพ์หอม, คัชรินทร์ เจียมศรีพงษ์*, พรรณี คำอู
Department of Pediatrics, BMA General Hospital
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคหืดและความรู้เรื่องโรคหืดของผู้ปกครองก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการค่ายโรคหืด
วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็น quasi experimental study  ศึกษาผลของค่ายโรคหืดต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคหืดและความรู้เรื่องโรคหืดของผู้ปกครอง ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคหืดอายุ 5-12 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการค่ายโรคหืด ที่โรงพยาบาลกลาง จำนวน 25 คู่ ผู้ป่วยจะได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหืด Pediatric Asthma Quality of Life Questionnaire (PAQLQ) ฉบับภาษาไทย ผู้ปกครองจะได้รับการซักประวัติการรักษาโรคหืด ตอบแบบสอบถามความรู้โรคหืดโดยใช้ The Asthma General Knowledge Questionnaire for Adults (AGKQA) ฉบับภาษาไทย และหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะให้ผู้ปกครองตอบแบบสอบถามความรู้เรื่องโรคหืดซ้ำอีกครั้ง เพื่อประเมินความรู้ของผู้ปกครอง และนัดผู้ป่วยและผู้ปกครองกลับมาติดตามการรักษาและประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยซ้ำหลังเข้าร่วมกิจกรรม 6 สัปดาห์
ผลการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย ร้อยละ 72.0 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 28.0 มีมัธยฐานของอายุ 9 ปี หลังเข้าร่วมโครงการค่ายโรคหืดพบว่าความรู้ของผู้ปกครองผู้ป่วยเด็กโรคหืดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านพยาธิสรีรวิทยา ด้านการรักษาโดยยา ด้านการประเมินความรุนแรงของโรคและด้านการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการหอบ และ 6 สัปดาห์หลังเข้าร่วมโครงการ ผู้ป่วยเด็กโรคหืดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านขีดจำกัดในการทำกิจกรรม ด้านอาการ และด้านอารมณ์
สรุป: กิจกรรมค่ายโรคหืดเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ปกครองของผู้ป่วยโรคหืด มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดีขึ้น และทำให้ผู้ป่วยเด็กโรคหืดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน
 
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2554, September-December ปีที่: 55 ฉบับที่ 3 หน้า 255-264
คำสำคัญ
Quality of life, Asthmatic children, asthma day camp, asthma knowledge