ประสิทธิผลของเครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลืองชนิดมาตรฐานเปรียบเทียบกับชนิดซูเปอร์ไลท์อีมิททิ่งไดโอดส์ (Super Light-emitting Diodes) ในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ธราธิป โคละทัต, พิมล วงศ์ศิริเดช, รัตนาพันธ์ สุวรรณชัย, เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์, เรณู ฉวีรัตน์, โสภาพรรณ เงินฉ่ำ*Division of Neonatology, Department of Pediatrics, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, 2 Prannok Rd, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: 0-2419-5938; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบได้บ่อยมาก การรักษาที่ใช้กันมานานนับสิบปีแล้วคือ การส่องไฟเพื่อป้องกันภาวะตัวเหลืองรุนแรงซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะ kernicterus ได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของเครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลือง 2 ชนิดในการลดระดับของสารบิลิรูบินในพลาสมาและระยะเวลาที่ใช้ในการส่องไฟรักษาในทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองชนิดไม่รุนแรง
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ทารกที่เข้าร่วมในการศึกษาเป็นทารกที่มีภาวะตัวเหลืองชนิดไม่รุนแรง แต่เหลืองถึงเกณฑ์ที่ต้องได้รับการรักษาจำนวน 40 ราย อายุตั้งแต่ 1 ถึง 5 วัน เครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลืองชนิดมาตรฐานที่ใช้ในกลุ่ม “หลอดไฟสีฟ้า” คือ เครื่องส่องไฟ-ศิริราช ซึ่งประกอบด้วย หลอดฟลูออเรสเซนต์แสงสีฟ้าพิเศษ จำนวน 6 หลอด เครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลืองชนิดซูเปอร์ไลท์อีมิททิ่งไดโอดส์ ที่ใช้ในกลุ่ม “ไลท์อีมิททิ่งไดโอดส์ (แอลอีดี)” คือ Bilitron 3006 ซึ่งประกอบด้วย หลอดไฟซูเปอร์แอลอีดี จำนวน 5 หลอด
ผลการศึกษา: ในแต่ละกลุ่มมีทารกจำนวน 20 ราย ข้อมูลพื้นฐานและลักษณะทางคลินิกก่อนเริ่มการรักษาด้วยการส่องไฟของทารกทั้งสองกลุ่มสามารถเทียบเคียงกันได้ ค่ากลาง (25 เปอร์เซ็นต์ไทล์, 75 เปอร์เซ็นต์ไทล์) ของการลดลงของสารบิลิรูบินในพลาสมาของกลุ่ม “หลอดไฟสีฟ้า” มีค่ามากกว่าของกลุ่ม “แอลอีดี” อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [0.16 (0.09, 0.25) และ 0.10 (0.02, 0.17) มิลลิกรัม/เดซิลิตร/ชั่วโมง ตามลำดับ; p = 0.03] ระยะเวลาในการส่องไฟรักษาตัวเหลืองของกลุ่ม “หลอดไฟสีฟ้า” สั้นกว่าของกลุ่ม “แอลอีดี” แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: เครื่องส่องไฟรักษาตัวเหลืองชนิดมาตรฐานที่ผลิตขึ้นเองมีประสิทธิผลในการลดระดับสารบิลิรูบินในพลาสมาได้ดีกว่าเครื่องส่องไฟชนิดซูเปอร์แอลอีดี ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, July
ปีที่: 95 ฉบับที่ 7 หน้า 884-889
คำสำคัญ
phototherapy, Neonatal hyperbilirubinemia, Blue light, LEDs