การป้องกันไมเกรนด้วยไฟฟ้ากระแสตรงขั้วบวกผ่านกะโหลก การทดลองแบบสุ่มโดยมีกลุ่มควบคุม
ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, ทวีศักดิ์ จรรยาเจริญ, ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ, บัณฑิต ถิ่นคำรพ, ภารดี เอื้อวิชญาแพทย์*, วิยะดา ปัญจรัก, สมศักดิ์ เทียมเก่า, สุพัชญ์ สีนะวัฒน์, อเล็กซานเดอร์ โรเทนเบอร์กDepartment of Pediatrics, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002, Thailand; Phone: 043-347-588; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ไมเกรนเป็นกลุ่ม อาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ การป้องกันเป็นสิ่งจำเป็น ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่ผู้ป่วยไมเกรนส่วนหนึ่งมีข้อห้ามหรือมีอาการข้างเคียงจากยาป้องกันไมเกรน ดังนั้นการป้องกันโดยวิธีไม่ใช้ยาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการศึกษาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงผ่านกะโหลกบริเวณเปลือกสมองส่วนมอเตอร์สามารถลดอาการปวดเรื้อรังในอาการปวดจากระบบประสาทได้
วัตถุประสงค์ : เพื่อที่จะประเมินว่า การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า กระแสตรงผ่านกะโหลกบริเวณเปลือกสมองส่วนมอเตอร์ต่อเนื่องกัน 20 วัน สามารถป้องกันอาการปวดในไมเกรนได้หรือไม่
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยไมเกรนชนิดปวดเป็นพักๆ จำนวน 42 ราย ที่ไม่เคยได้รับยาป้องกัน หรือ เคยได้รับยาป้องกันแต่ล้มเหลวหรือเลิกรับประทานยาเนื่องจากอาการข้างเคียง จะถูกสุ่มให้ได้รับการกระตุ้นจริงหรือกระตุ้นหลอกด้วยขั้วบวกของไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อนขนาด 1 มิลลิแอมแปร์ เป็นเวลา 20 นาทีทุกวันต่อเนื่องกัน 20 วัน และได้รับการติดตามผลการรักษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ความแตกต่างระหว่างกลุ่มและภายในกลุ่มก่อนและหลังการรักษาใช้สถิติ repeated measures ANOVA โดยค่า p-value ที่น้อยกว่า 0.05 ถูกจัดเป็นระดับความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยไมเกรนจำนวน 37 ราย ที่เข้าร่วมจนสิ้นสุดการศึกษานี้ (กลุ่มกระตุ้นจริง 20 ราย กระตุ้นหลอก 17 ราย) เมื่อเปรียบเทียบความถี่ของการเกิดอาการ ระดับความเจ็บปวด และจำนวนเม็ดยาที่ใช้ระหว่างกลุ่มกระตุ้นจริงและกระตุ้นหลอก ในสัปดาห์ที่ 4, 8, และ 12 พบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความถี่ของการเกิดอาการและจำนวนเม็ดยาที่ใช้ในสัปดาห์ที่ 4 และ 8 ส่วนระดับความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 4, 8, และ 12 ผู้ป่วยทุกรายทนต่อการกระตุ้นไฟฟ้ากระแสตรงได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง
สรุป: ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อนบริเวณเปลือกสมองส่วนมอเตอร์ อาจจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยในการป้องกันอาการปวดในไมเกรน กลไกการออกฤทธิ์ของการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อนในการปรับเปลี่ยนทางระบบประสาทของผู้ป่วยไมเกรนยังต้องการการศึกษาต่อไป
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, August
ปีที่: 95 ฉบับที่ 8 หน้า 1003-1012
คำสำคัญ
pain, Migraine, Noninvasive brain stimulation, Transcranial direct current stimulation, Chronic headache