ผลของการใช้หมอนรูปโดนัท ต่อระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่มีแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารหรือผู้ป่วยที่มีแผลฝีเย็บ
รัชนี สีสุข*, เปรมจิตร แก้วมูล, สมถวิล จินดา
โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการลดระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารหรือผู้ป่วยหลังคลอดที่มีแผลฝีเย็บ
รูปแบบการศึกษา: Randomized incompleted cross-over clinical trial
สถานที่ศึกษา: หอผู้ป่วยพิเศษ 4 และ 6 โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
วิธีการศึกษา: ศึกษาในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ที่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารหรือผู้ป่วยหลังคลอดที่มีแผลฝีเย็บ โดยการประเมินระดับความปวดขณะใช้อุปกรณ์ 3 ชนิด คือ หมอนรูปโดนัท, หมอนรองนั่งและเก้าอี้หรือเตียง ทำการศึกษาลักษณะต่างๆ ขณะกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ลักษณะทั่วไป ชนิดของการผ่าตัด ระดับความเจ็บปวดหลังผ่าตัดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนบ่าย ระยะเวลา 3 วันแรก ลักษณะอุจจาระ การใช้ยาแก้ปวดและใช้วิธีเลือกแบบวัดโดยการสุ่ม ทำการเก็บข้อมูลโดยผู้วิจัยเก็บของ
ผลการศึกษา: จำนวนผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด 21 ราย เก็บข้อมูล ทั้งหมด 171 ครั้ง เพศหญิง 16 ราย ร้อยละ 76.19 เพศชาย 5 ราย ร้อยละ 23.81 อายุเฉลี่ย 33.1 ปี เป็นผู้ป่วยผ่าตัดทางทวารหนัก 11 ราย ร้อยละ 52.38, มีแผลฝีเย็บ 10 ราย ร้อยละ 47.62 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เก็บข้อมูลในช่วง 1 วันแรกหลังผ่าตัด จำนวน 78 ครั้ง ร้อยละ 45.61 ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลระดับความเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน ผลการเปรียบเทียบการวัดระดับความเจ็บปวดในการใช้อุปกรณ์ ทั้ง 3 ชนิด พบว่าการใช้หมอนรูปโดนัท มีระดับความเจ็บปวดน้อยกว่าทั้งสองชนิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = .001)
สรุป: หมอนรูปโดนัทช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดทวารหนักและผู้ป่วยหลังคลอดที่แผลฝีเย็บ
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ปี 2554, May-August ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 149-157
คำสำคัญ
pain score, Episiotomy, แผลฝีเย็บ, Donut ring, Pillow, Hemorrhoidectomy, หมอนรูปโดนัท, ระดับความเจ็บปวด, ผ่าตัดสิดสีดวงทวารหนัก