ผลการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
อโนชา ศริญญาวัจน์*, สุจิตรา ลิ้มอำนวยลาภโรงพยาบาลลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้ เพื่อศึกษาผลการเสริมสร้างพลังอำนาจต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยกรอบแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจของกิบสันและแนวคิดการดูแลตนเองของโอเร็ม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด มารับบริการที่คลินิกโรคเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลลำปลายมาศ แบ่งเป็น กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองนำการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มทั้งหมด 4 ครั้ง ระยะเวลาเข้ากลุ่มครั้งละ 60-90 นาที ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน และการประเมินค่าระดับน้ำตาลกับฮีโมโกลบิน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2551 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติการทดสอบที และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม ผลการศึกษาวิจัย พบว่า 1)กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2)กลุ่มทดลองมีค่าระดับน้ำตาลจับกับฮีโมโกลบินหลังการทดลองลดลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ข้อเสนอแนะ ควรนำแนวทางการเสริมสร้างพลังอำนาจไปประยุกต์ใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2552, April-June
ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 41-46
คำสำคัญ
empowerment, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, Glycemic control, self -care behaviors