ประสิทธิผลของการให้ความรู้เรื่องเสียงจากแผ่นวีดิทัศน์ในผู้ป่วยที่มีตุ่มเนื้อของสายเสียง
กัลยาณี มกราภิรมย์*, ชวน ชีพเจริญรัตน์คลินิกแก้ไขการพูด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: เสียงนับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่ใช้เสียงในการประกอบอาชีพ การใช้เสียงบ่อยหรือใช้เสียงมากเกินไปมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดตุ่มเนื้อขึ้นที่สายเสียง มีหลายการศึกษาพบว่าการฝึกพูดโดยใช้โปรแกรมการสอนให้ผู้ป่วยสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับสายเสียงจะช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงพัฒนาสื่อวีดิทัศน์เรื่องตุ่มเนื้อของสายเสียงเพื่อใช้ในการศึกษาครั้งนี้ โดยมี
วัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการให้ความรู้เรื่องเสียงจากแผ่นวีดิทัศน์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีตุ่มเนื้อของสายเสียง
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ Two-Group Pretest Posttest Design กลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้เป็นผู้ป่วยที่มีตุ่มเนื้อของสายเสียงจากคลินิกฝึกพูด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จัดเข้ากลุ่มด้วยวิธีการสุ่มซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มศึกษาจะได้รับการสอนความรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียงแบบใหม่จากแผ่นวีดิทัศน์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการสอนความรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียงแบบเดมิ จากแผ่นพับผู้ป่วยทุกคนได้รับการประเมินคุณภาพเสียงและขนาดของตุ่มเนื้อของสายเสียงในครั้งแรกที่มาพบแพทย์ และในครั้งติดตามผลในเดือนที่ 3 เก็บรวมรวมข้อมูลที่เป็นข้อมูลทั่วไป คุณภาพเสียงและขนาดของตุ่มเนื้อ
ของสายเสียง แล้ววิเคราะห์ผลด้วยสถิติ pair t-test และ ordinal continuous logistic regression ที่มีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ p<0.05
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 46 ราย (เป็นกลุ่มศึกษา 27 ราย กลุ่มควบคุม 19 ราย) มีอายุเฉลี่ย 43.5 ปี มากกว่าร้อยละ 66.7 ใช้เสียงในการประกอบอาชีพ และมีอาการเสียงผิดปกตินานกว่า 3 เดือน ร้อยละ 51.9 ของกลุ่มศึกษา และร้อยละ 63.1 ของกลุ่มควบคุม พบก้อนตุ่มเนื้อขึ้นที่สายเสียงทั้งสองข้าง จากการศึกษาพบว่าในกลุ่มศึกษามีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.005) ตุ่มเนื้อของสายเสียงมีขนาดลดลงหรือก้อนหายไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.005) และมีอัตราการเพิ่มระดับขนาดของก้อนตุ้มเนื้อช้าลงกว่ากลุ่มควบคุม ร้อยละ 45 (OR=0.45, 95%CI; 0.23, 0.89, p=0.022)
สรุป: ในการรักษาผู้ป่วยที่มีตุ่มเนื้อของสายเสียงที่สอนด้วยโปรแกรมการสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับสายเสียงโดยการใช้สื่อวีดิทัศน์มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้สื่อแผ่นพับ
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2555, April-June
ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 147-156
คำสำคัญ
Vocal nodule, Voice therapy, Vocal education, ตุ่มเนื้อของสายเสียง, การรักษาเสียง, การให้ความรู้เรื่องเสียง