คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก หนึ่งปีภายหลังการจ
อนันต์ อุดมพรประภา*, จริยา บุญหงษ์, ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัยโครงการระบาดวิทยาคลินิก, คณะแพทยศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์: โรคกระดูกสะโพกหักเป็นภาระในการดูแลสุขภาพที่สำคัญในประเทศไทย การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักนี้เป็นการสำรวจในมุมมองของ (1) ความน่าเชื่อถือของการใช้แบบสอบถามเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทย (2) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักเปรียบเทียบกับอาสาสมัครชาวไทยสุขภาพปกติ
วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจำนวน 201 ราย ได้รับการคัดกรองก่อนการออกจากโรงพยาบาลและติดตามผลนานหนึ่งปี แบบสอบถามเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทย ชนิดผู้ป่วยประเมินเองถูกจัดส่งทางไปรษณีย์เพื่อการติดตามผลข้อมูลคุณลักษณะของผู้ป่วยด้านคลินิกเก็บรวบรวมจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโดยตรงในระหว่างการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าศึกษาพร้อมตรวจยืนยันกับบันทึกทางการแพทย์แล้วทำการวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางและรายงานผลเชิงพรรณา
ผลการศึกษา: แบบสอบถามได้รับการตอบกลับทั้งสิ้น ร้อยละ 59.2 (119 ราย) ค่าคะแนนเฉลี่ย (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) [ช่วงเชื่อมั่น 95%] ของค่าคะแนนเฉลี่ยเกี่ยวกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพโดยรวม ที่ประเมินโดยผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยมีค่าเท่ากับ 35.2(11.7) [33.1-37.3], 53.2(11.5) [51.1-55.2], 43.1(10.4) [41.2-44.9], ในขณะที่ค่าคะแนนเฉลี่ยเกี่ยวกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพเกี่ยวกับบทบาทของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก มีค่าเท่ากับ 26.5(12.3) [24.2-28.7], 61.1(12.3) [58.8-63.3], 39.5(10.4) [37.6-41.3]
โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความน่าเชื่อถือ Chronbach’s alpha เท่ากับ 0.914, 0.809, 0.916 และ 0.896, 0.789, 0.718 ตามลำดับ ค่าสัมประสิทธิ์ ความน่าเชื่อถือ Chronbach’s alpha ที่ประเมินจากผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในการศึกษานี้และผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง มีค่าใกล้เคียงกันที่ 0.91 กับ 0.93, 0.82 กับ0.92 และ 0.91 กับ 0.94 ตามลำดับ การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพประเมินจากแบบสอบถามเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทย พิจารณาจากค่าคะแนนเฉลี่ยของสุขภาพโดยรวมระหว่างผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักและอาสาสมัครปกติชาวไทยในกรุงเทพ และทั่วประเทศ พบว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยรวมลดลงร้อยละ 33 และ 42 ตามลำดับ
สรุป: การประเมินคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพโดยแบบสอบถามเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทยภายหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลนานหนึ่งปี มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลจากการศึกษานี้ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ด้านคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก ภายหลังการรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ต่ำกว่า จากการประเมินโดยแบบสอบถาม เอสเอฟ 36 ฉบับภาษาไทยพบว่าลดลงร้อยละ 33 และ 42 เปรียบเทียบกับอาสาสมัครปกติชาวไทยในกรุงเทพ และทั่วประเทศตามลำดับ จุดด้อยและข้อจำกัดของการศึกษาด้านการลำเอียงเพื่อรายงานผลและความจำในการรายงานสามารถแก้ไขได้
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2555, April-June
ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 180-188
คำสำคัญ
Health-related quality of life, กระดูกสะโพกหัก, Hip fracture, Medical Outcomes Study a 36-item Short-Form Survey (MOS SF3-6), การประเมินคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ, แบบสอบถามเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทย