ผลของโปรแกรมการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตนต่อระดับการควบคุมโรคของผู้ป่วยโรคหอบหืด
แสงเดือน หาญครุฑ*, ชมนาด วรรณพรศิริ, นุศรา วิจิตรแก้ว
โรงพยาบาลกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
บทคัดย่อ
 
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตนต่อระดับการควบคุมโรคหอบหืด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมโรคได ้ที่มารับการรักษาที่คลินิกโรคหอบหืดโรงพยาบาลกงไกรลาศ จำนวน 60 คน สุ่มเข้ากลุ่ม ทดลองจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 30 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตนประกอบด้วย
1) ประสบการณ์ของความสำเร็จจากการลงมือกระทำ
2 ) การสังเกตตัวแบบหรือประสบการณ์ของผู้อื่น 3) การชักจูงด้วยคำพูด 4) ความพร้อมทางสภาวะทางกายและอารมณ์ กลุ่มควบคุมได้รับคำแนะนำตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบประเมินระดับการควบคุมโรคหอบหืด, Peak Flow Meter และโปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติวิเคราะห์การทดสอบค่าทีชนิด 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent t-test) และความแปรปรวนแบบวัดซํ้า repeated measure design และเปรียบเทียบภายหลังด้วยวิธี Least signification difference (LSD) ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ป่วยโรคหอบหืดในกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตน มีคะแนนการควบคุมโรคก่อนการทดลอง หลังการทดลองทันที และหลังสิ้นสุดการทดลอง 4 สัปดาห์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000)
2. ผู้ป่วยโรคหอบหืดในกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ มีคะแนนการควบคุมโรคก่อนการทดลอง หลังการทดลองทันที และหลังสิ้นสุดการทดลอง 4 สัปดาห์ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000)
3. ผู้ป่วยโรคหอบหืดในกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตน มีคะแนนระดับการควบคุมโรคหลังการทดลองทันที สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000)
4. ผู้ป่วยโรคหอบหืดในกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตน มีคะแนนระดับการควบคุมโรคหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000)
 
ที่มา
วารสารการพยาบาลและสุขภาพ ปี 2553, May-August ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 72-81
คำสำคัญ
Self- efficacy program for health care behavior, Asthma control, โปรแกรมการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติตน, ระดับการควบคุมโรคหอบหืด