ผลของโปรแกรมการจัดการกับอาการต่ออาการปวดหลังส่วนล่างของหญิงตั้งครรภ์
Oratai Singkum*, Ratsiri Thato
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการกับอาการต่ออาการปวดหลังส่วนล่างของหญิงตั้งครรภ์ โดยใช้แนวคิดการจัดการกับอาการของ Dodd และคณะ (2001) ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนล่างในหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 40 คน โดยจับคู่ให้มีความใกล้เคียงกันในเรื่อง อายุ ส่วนสูง จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ จัดกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการจับคู่เข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการจับฉลากที่ทำเครื่องหมาย “กลุ่มควบคุม” และ “กลุ่มทดลอง” จนครบจำนวนกลุ่มละ 20 คน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการจัดการกับอาการ ที่พัฒนามาจากแนวคิดการจัดการกับอาการของ Dodd และคณะ (2001) ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินประสบการณ์เกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนล่างของหญิงตั้งครรภ์ 2)การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการกับอาการปวดหลังส่วนล่าง 3)การพัฒนาทักษะการจัดการกับอาการปวดหลังส่วนล่าง 4)การฝึกปฏิบัติการจัดการกับอาการปวดหลังส่วนล่างที่บ้าน และ 5)การประเมินผลในการจัดการกับอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยมีสื่อประกอบการใช้ในโปรแกรมคือ แผนการสอน ภาพพลิก และคู่มือการจัดการกับอาการปวดหลังส่วนล่าง เครื่องมือกำกับการทดลอง ได้แก่ แบบสอบถามท่าทางในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของหญิงตั้งครรภ์ ดัดแปลงจากแบบสัมภาษณ์ของดาริน โต๊ะกานิ (2545) มีค่าดัชนีความตรงของเนื้อหา (CVI) เท่ากับ 1.0 ค่าความเที่ยงเท่ากับ .87 และแบบบันทึกการออกกำลังกายด้วยการยกเชิงกราน ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น มีค่าดัชนีความตรงของเนื้อหา (CVI) เท่ากับ 1.0 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินระดับความเจ็บปวดชนิดเส้นตรง (Visual Analogue Scale: VAS) มีค่าความเที่ยงแบบวัดซ้ำเท่ากับ .99 วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยาย และสถิติทดสอบค่าที
                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ คือ
  1. ค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการปวดหลังส่วนล่างของหญิงตั้งครรภ์หลังได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (tdf=19=5.88, p < .01)
  2. ค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการปวดหลังส่วนล่างของหญิงตั้งครรภ์กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการต่ำกว่าหญิงตั้งครรภ์กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (tdf=38 = 8.64, p<.01)
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ปี 2550, May-August ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 30-43
คำสำคัญ
Pregnancy, การตั้งครรภ์, Low back pain, การจัดการกับอาการ, Symptom management, อาการปวดหลังส่วนล่าง