ผลของการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยต่อคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษา
ชมพูนุช โสภาจารีย์, มาลี นิ่มพงษ์พันธ์*
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
บทคัดย่อ
 
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อ ความเจ็บป่วยต่อคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษา กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่อยู่ระหว่างการรับรังสีรักษาในศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี จำนวน 40 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการคัดเลือกตามสะดวก (Convenience sampling) จัดให้กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอายุ ระยะของโรค และตำแหน่งที่เป็นโรค แล้วสุ่มเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง (Random assignment) กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลปกติ กลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วย ใช้แนวคิดความเชื่อความเจ็บป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ได้รับผ่านการตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องมือแล้ว (Cronbach’s alpha coefficient = .80) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที
                ผลการวิจัยพบว่า
  1. ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษาได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อ ความเจ็บป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดีกว่าก่อนการได้รับการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อ ความเจ็บป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X bar = 5.17, SD = .23 และ X bar = 4.82, SD = .51, p < .05, t = -6.49, p < .05)
  2. ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอระหว่างการรับรังสีรักษากลุ่มทดลองมีคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X = 5.17, SD = .23 และ X = 4.86, SD = .47, p < .05, t= -2.67, p < .05)
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ปี 2552, May-August ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 104-121
คำสำคัญ
Head and neck cancer, Health-related quality of life, Illness Beliefs Model, Radiation therapy, รูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วย, คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ, มะเร็งศีรษะและคอรังสีรักษา