ผลของการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอาการชาของผู้ที่เป็นเบากวาน ชนิดที่ 2
ยมพร ศักดานุภาพ*, ลดาวัลย์ นิชโรจน์, นพวรรณ เปียซื่อ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบทดลอง เพื่อศึกษาผลของการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอาการชาของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยประยุกต์ตามแนวคิดและการดูแลแบบผสมผสาน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการตรวจรักษาแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม 2552 จำนวน 30 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์คัดเข้า และสุ่มแบบง่าย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า 15 ราย และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการนวดเลียนแบบ 15 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า เครื่องมือในการตรวจอาการชาเท้า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ Independent t-test และ Paired samples t-test
                ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดหลังนวดทันทีและหลังนวด 14 วันในกลุ่มทดลอง น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05 และ p<.001 ตามลำดับ) และมีค่าเฉลี่ยของอาการชาหลังนวดทันทีและหลังนวด 14 วันในกลุ่มทดลอง น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.001) และพบว่าค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดและค่าเฉลี่ยอาการชาของกลุ่มทดลอง หลังนวดทันทีและหลังนวด 14 วัน น้อยกว่าก่อนนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001)
                ผลการศึกษานี้พบว่า การนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและอาการชาได้ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อส่งเสริมการดูแลแบบองค์รวม โดยใช้ภูมิปัญญาตะวันออกเข้ามาผสมผสานในการดูแลสุขภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางเลือกหนึ่งในการบำบัดเสริมทางพยาบาลต่อไป
 
ที่มา
วารสารสุขศึกษา ปี 2553, January-April ปีที่: 33 ฉบับที่ 114 หน้า 44-54
คำสำคัญ
Diabetes mellitus, เบาหวาน, Foot reflexology, การนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า, การบำบัดเสริมและการแพทย์ทางเลือก, Numbness, Complementary and alternative, อาการเท้าชา