การศึกษาเปรียบเทียบผลของการลดปริมาตรต่อขาระหว่างเฝือกชนิดถอดได้กับการใช้ผ้ายืดพันในผู้ที่ถูกตัดขาระดับใต้หัวเข่า
ศิริพร จันทร์ฉาย*, จริยา บุญหงษ์, จิรายุ เทียมประสิทธิ์
Department of Rehabilitation Medicine, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อเปรียบเทียบผลของการลดปริมาตรตอขา  ระหว่างเฝือกชนิดถอดได้  กับการใช้ผ้ายืดพัน
ในผู้ที่ถูกตัดขาระดับใต้หัวเข่า
รูปแบบการศึกษา:  การศึกษาชนิดการทดลองแบบสุ่ม  และมีกลุ่มควบคุม
สถานที่ทำการศึกษา: ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ประชากรที่ศึกษา:  ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดขาระดับใต้หัวเข่าและส่งมารับการฟื้นฟูที่ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู
วัสดุและวิธีการ:  ผู้ป่วยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าจะถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม  โดยกลุ่มแรกจะได้รับเฝือกชนิดถอดได้และกลุ่มที่ 2  ได้รับการสอนให้พันตอขาด้วยผ้ายืดเพื่อให้ยุบบวมโดยทุกคนจะได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูอื่นๆ ที่เหมือนกัน  ผู้ป่วยจะได้รับการวัดเส้นรอบวงของตอขาวันแรก  ที่ 2  สัปดาห์  และที่ 4  สัปดาห์ ตามลำดับ  นำผลที่ได้ไปคำนวณ  หาปริมาตรของตอขาและวิเคราะห์หาค่าความแตกต่างทางสถิติระหว่างกลุ่ม
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ถูกตัดขาระดับใต้หัวเข่าทั้งหมด 26 คน อายุเฉลี่ย 68.19 ± 10.83 ปี  เพศชาย 11คน (ร้อยละ 42.3) และเพศหญิง 15 คน (ร้อยละ 57.69) ถูกตัดข้างขวา 20 คน (ร้อยละ 76.92)  เป็นเบาหวาน 21 คน (ร้อยละ 80.77)  สาเหตุการตัดขาส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดสวนปลายตีบตัน 15  คน (ร้อยละ 57.69)  สุ่มได้กลุ่มใช้เฝือกชนิดถอดได้ 12  คน (ร้อยละ 46.2 )  และกลุ่มที่ใช้ผ้ายืด 14  คน (ร้อยละ53.8)  กลุ่มที่ใช้เฝือกชนิดถอดได้  สามารถลดปริมาตรตอขาในช่วง 2 และ 4 สัปดาห์ ได้เฉลย 42.73 ± 62.70 และ 79.9 ± 103.33 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ใช้ผ้ายืดพัน สามารถลดปริมาตรตอขาได้เฉลี่ย 21.89 ± 118.49 และ 83.03 ± 113.05 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามลำดับ  โดยทั้ง 2  กลุ่ม  ลดปริมาตรตอขาได้แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 4  สัปดาห์
สรุป:  เฝือกชนิดถอดได้  มีแนวโน้มที่จะสามารถลดปริมาตรตอขา  ในผู้ที่ถูกตัดขาระดับใต้หัวเข่า  ได้เร็วกว่าการใช้ผ้ายืดพัน ในช่วง 2 สัปดาห์แรก แต่ที่ 4 สัปดาห์ ไม่มีความแตกต่างกัน
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2551, September ปีที่: 91 ฉบับที่ 9 หน้า 1441-1446
คำสำคัญ
Removale rigid dressing, Below knee amputee, Residual limb volume