ผลของการกดจุด LI 4 และ SP 6 ต่อความเจ็บปวดในระยะที่หนึ่งของการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก
ธนาพร กิตติเสนีย์*, เอมพร รตินธร, ฉวีวรรณ อยู่สำราญ, สมชัย โกวิทเจริญกุลผดุงครรภ์ขั้นสูง, มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการเป็นการวิจัยแบบทดลอง (Randomized Controlled Trial) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการกดจุด LI 4 และจุด SP 6 ต่อความเจ็บปวดในระยะที่หนึ่งของการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้คลอดที่มาคลอดที่ศูนย์อนามัยที่ 8 จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างเดือน มีนาคม-กรกฎาคม 2554 จำนวน 60 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง (30 ราย) กลุ่มควบคุม 30 (ราย) โดยการสุ่มด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กลุ่มทดลองจะได้รับการกดจุด LI 4 และ SP 6 จุดละ 5 นาที รวม 4 จุด เป็นเวลา 20 นาที ส่วนในกลุ่มควบคุมจะได้รับการสัมผัสที่จุดเดียวกันในระยะเวลาที่เท่ากัน ทำการประเมินระดับความเจ็บปวดทั้งหมด 4 ครั้งได้แก่ ก่อนการกดจุด หลังการกดจุดทันที ที่ 30 และ 60 นาทีหลังกดจุด โดยใช้เครื่องมือวัดความเจ็บปวดใช้แบบวัดความเจ็บปวดด้วยสายตา Visual Analogue Scale (VAS) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติไค-สแควร์ (Chi-square) และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated Measure ANOVA) ผลการวิจัย พบว่าระดับความเจ็บปวดในกลุ่มทดลองลดลงกว่าก่อนกดจุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 8.645, p < .01) และระดับความเจ็บปวดภายหลังการกดจุดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 13.34, p < .01) ข้อสรุปจากงานวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการกดจุด LI 4 และ SP 6 เป็นการจัดการความเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัย ซึ่งพยาบาลผดุงครรภ์หรือผู้ดูแลการคลอดที่ได้รับการฝึกการกดจุดสามารถนำไปเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการความเจ็บปวดให้กับผู้คลอดได้
ที่มา
วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปี 2555, July-September
ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 68-77
คำสำคัญ
เจ็บครรภ์คลอด, Labor Pain Acupressure Pain Management, การกดจุด, การจัดการความปวด