การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยของยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% และยาทาชนิดครีมโฮโดรคอร์ติโซน 2% ของโรคสะเก็ดเงินที่ใบหน้าในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยมีกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม
สมศักดิ์ โตวณะบุตร*, พู่กลิ่น ตรีสุโกศล
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
โรคสะเก็ดเงินที่ใบหน้าเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง มักก่อให้ความรู้สึกอับอายและลดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมจากผื่นที่ปรากฏชัดและยาวนาน การรักษาส่วนใหญ่ใช้เป็นยาทาสเตียรอยด์ แต่มีข้อจำกัดในการใช้ยาเนื่องจากผลข้างเคียงของยา ยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน มีรายงานว่าสามารถใช้รักษาผื่นสะเก็ดเงินที่หน้าได้ผลดีและมีผลข้างเคียงต่ำ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยของยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% และยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโครคอร์ติโซน 2% บนผื่นของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ใบหน้า
วิธีการรักษา: ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ใบหน้า 31 คน จาก 34 คน เข้าร่วมโครงการวิจัยครบ 8 สัปดาห์ โดยทายาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% และยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโครคอร์ติโซน 2% วันละ 2 ครั้ง บนผื่นที่หน้าข้างละชนิดโดยการเลือกแบบสุ่ม ติดตามผลและถ่ายรูปผื่นตั้งแต่วันเริ่มวิจัย สัปดาห์ที่ 2, 4 และ 8 ตามลำดับแพทย์ตจวิทยา 3 ท่าน ทำการประเมินการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกโดยไม่ทราบชนิดของยาทาและประเมินรอยโรคชนิด รอยแดง สะเก็ดและความนูนหรือหนาด้วย Targeted Area Score (TAS) และ Overall Severity Score ประเมินผลการรักษาโดยรวมด้วย Physician’s Global Assessment (PGA) score ประเมินผลข้างเคียง หรือเหตุอันไม่พึงประสงค์และประเมินความพึงพอใจในการรักษาของผู้ป่วยโดยการตอบแบบสอบถาม
ผลการศึกษา: ระดับการเปลี่ยนแปลงของผื่นเฉพาะที่มีอาการที่ดีขึ้นชัดเจนหรือหายขาด หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 90 ถึง 100 ด้วยวิธี Physician’s Global Assessment (PGA) Score ที่ 8 สัปดาห์ ของการรักษา นั้นไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส  0.1%  กับยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโดรคอร์ติโซน  2%  สำหรับการประเมินผื่นด้วย Targeted Area Score (TAS) พบว่ายาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% ลดสะเก็ดในสัปดาห์ที่ 2, 4 และ 8 ความนูนหรือหนาในสัปดาห์ที่ 8 และคะแนนรวม Overall Severity Score ในสัปดาห์ที่ 2, 4 มากกว่ายาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 2% โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ผู้ป่วยทน (tolerability) ต่อการทายาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% วันละ 2 ครั้งได้ดี ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบเพียงอาการแสบร้อน (burning) อาการคัน (itching) อาการเคือง (irritation) และอาการต่อมขนอักเสบหรือสิว (acneifrom eruption) จากยานี้เช่นเดียวกับยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 2% ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและพบเฉพาะ 2 สัปดาห์แรก อาการดังกล่าวสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาเพิ่มเติม
สรุปผล: ยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1% เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินที่ใบหน้าในผู้ป่วยผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโครคอร์ติโซน 2%
 
ที่มา
วารสารโรคผิวหนัง ปี 2555, April-June ปีที่: 28 ฉบับที่ 2 หน้า 99-111
คำสำคัญ
facial psoriasis, topical calcineurin inhibitors, tacrolimus 0.1%, topical corticosteroids, hydrocortisone cream 2%, โรคสะเก็ดเงินบนหน้า, ยาทาต้านคัลซินิวริน, ยาขี้ผึ้งทาโครไลมัส 0.1%, ยาทาสเตียรอยด์, ยาทาสเตียรอยด์ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 2%