โปรแกรมการจัดการดูแลตนเองสำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
Gail D Eramo Melkus, ภาวนา กีรติยุตวงศ์*, อรสา พันธ์ภักดี, ธวัชชัย วรพงศธร, สมจิต หนุเจริญกุล
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรมการจัดการดูแลตนเองในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อระดับความรู้ กิจกรรมการดูแลตนเอง คุณภาพชีวิต และค่าน้ำตาลสะสม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 81 ราย จากโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถูกสุ่มเข้ากลุ่มการจัดการดูแลตนเองสำหรับผู้เป็นเบาหวาน หรือกลุ่มควบคุม ทั้งสองกลุ่มได้ดูวีดีทัศน์ 5 เรื่อง ได้รับชุดความรู้เพื่อการดูแลตนเองสำหรับผู้เป็นเบาหวาน และได้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานจากเจ้าหน้าที่สุขภาพ รวมทั้งได้รับการติดตามทางโทรศัพท์ในเดือนที่ 3 และ 5 ผู้เป็นเบาหวานกลุ่มการจัดการดูแลตนเอง ได้เข้าร่วมกลุ่มเรียนรู้เรื่องการจัดการดูแลตนเอง จำนวน 5 เรื่อง เนื้อหาเน้นการเพิ่มสมรรถนะของผู้เป็นเบาหวานด้านกระบวนการคิดและการฝึกทักษะในการจัดการดูแลตนเอง โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น สอน สนับสนุน อภิปราย ทำกิจกรรม และการฝึกทักษะ การเก็บรวบรวมข้อมูลจะเก็บก่อนเริ่มโปรแกรม และเมื่อครบ 3 เดือนและ 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มการจัดการดูแลตนเองฯ มีระดับความรู้ กิจกรรมการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิต ดีกว่ากลุ่มควบคุมทั้ง 3 เดือนและ 6 เดือน ค่าน้ำตาลสะสมในกลุ่มการจัดการดูแลตนเองฯ ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มการจัดการดูแลตนเองฯ มีจำนวนผู้เป็นเบาหวานที่มีค่าน้ำตาลสะสมลดลง และมีค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลสะสมสูงกว่ากลุ่มควบคุม ผลการศึกษานี้แสดงถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการจัดการดูแลตนเองสำหรับผู้เป็นเบาหวาน จึงควรนำโปรแกรมนี้ลงสู่การปฏิบัติแก่ผู้ป่วยเบาหวานในระดับโรงพยาบาลชุมชนต่อไป
 
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2549, April - June ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 85-97
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Type 2 diabetes, SELF-MANAGEMENT, glycosylated HbA1c, self-care activities, ค่าน้ำตาลสะสม, คุณภาพชี่วิต, กิจกรรมการดูแลตนเอง, การจัดการดูแลตนเอง, เบาหวาน ชนิดที่ 2