ผลของการฉีดยาชาและยาหลอกในโพรงมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก เพื่อลดอาการปวดขณะขูดมดลูกแบบแยกส่วน
นุจรี ลีละสุวัฒนากุล*, สมศักดิ์ ประฏิภาณวัตรกลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดยาชาในโพรงมดลูกในการลดความเจ็บปวดขณะขูดมดลูก
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มโดยสถานที่ทำการศึกษาวิจัยคือโรงพยาบาลขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างคือสตรีที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดและมีข้อบ่งชี้ในการขูดมดลูกที่เข้ารับการรักษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 ถึง เดือนกรกฎาคม ปี 2554 จำนวน 230 คน ถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มเพื่อรับยาชา (2% lidocaine) หรือยาหลอก (saline) ขนาด 5 มิลลิลิตร ฉีดเข้าโพรงมดลูกร่วมกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก โดยประเมินความเจ็บปวดก่อนขูด ขณะขูด และหลังขูดมดลก รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาและความต้องการยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม ตัววัดที่สำคัญคือคะแนนความเจ็บปวดในขณะใส่เครื่องมือถ่างช่องคลอด ขณะทำการขูดมดลูก และทันทีหลังขูดมดลูก
ผลการศึกษา: สตรีที่ได้รับยาชาและยาหลอกกลุ่มละ 115 คน มี 3 คนออกจากงานวิจัยเนื่องจากแพ้ยาและไม่สามารถขูดมดลูกได้เนื่องจากปากมดลูกตีบ ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องอายุ น้ำหนักตัวต่อส่วนสูง การมีบุตร ภาวะประจำเดือนและการเคยได้รับการขูดมดลูกมาก่อน ระดับความเจ็บปวดในกลุ่มที่ ได้รับยาชาฉีดเข้าโพรงมดลูกน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (กลุ่มทดลอง 45 คะแนน (IQR 3-61), กลุ่มควบคุม 53 คะแนน (IQR 35-82), p <0.05) และไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในงานวิจัยนี้
สรุป: การฉีดยาชาเข้าโพรงมดลูกสามารถลดความปวดขณะขูดมดลูกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอกและไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
ที่มา
ขอนแก่นเวชสาร ปี 2555, May-August
ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 44-49