ผลของการใช้โปรแกรมการบีบน้ำนมในมารดาหลังคลอดที่มีบุตรต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม
จันทมาส ชัยสุขโกศล*, นิตยา แสงดอก, เฉลิมขวัญ จินดานิช, ดนิตา ปลาเงิน, ปภาวดี คำยวง
ห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม กลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทารกที่มีภาวะวิกฤติต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หากมารดาขาดการกระตุ้นการสร้างน้ำนมอาจทำให้มีน้ำนมไม่เพียงพอทารกจึงได้รับนมผสมทดแทนส่งผลให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้มเหลว
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการใช้โปรแกรมการบีบน้ำนมเพื่อเพิ่มการสร้างน้ำนม เพิ่มและคงปริมาณน้ำนมมารดาขณะที่บุตรไม่ได้ดูดนมแม่ กับมารดาที่ได้รับการดูแลปกติ
รูปแบบการศึกษา: Randomized controlled intervention study
สถานที่: หอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่
วิธีการ: ศึกษามารดาหลังคลอดที่มีบุตรเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม ที่มีบุตรเข้ารับการรักษาตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2553 จำนวน 60 คน โดยสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน โดยสุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มแบบล็อก (blog) ครั้งละ 10 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการบีบน้ำนมได้แก่ การสอน การสาธิต การฝึกปฏิบัติ ให้สามีช่วยบีบน้ำนมและมีตารางการบีบน้ำนมให้บันทึก ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการสอนการบีบน้ำนมตามหน่วยงานปฏิบัติอยู่ มีการติดตามปริมาณน้ำนมจากสมุดบันทึกปริมาณน้ำนมที่บีบได้ในแต่ละวันจนกระทั่งบุตรสามารถดูดนมจากเต้าได้ อธิบายข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของผลการใช้โปรแกรมการบีบน้ำนมระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ด้วยการทดสอบ t-test, ranksum test และ exact probability test
ผลการศึกษา: ลักษณะทั่วไปของมารดาและลักษณะทางคลินิกของบุตรทั้งสองกลุ่มคล้ายคลึงกันแต่มารดามีลักษณะที่แตกต่างกันคือ อายุครรภ์และภูมิลำเนา ส่วนบุตรมีความแตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลโดยกลุ่มทดลองมีวันนอนเฉลี่ย 25.6 วัน (SD = 12.1) กลุ่มควบคุม 20.1 วัน (SD=10.5) หลังการได้รับโปรแกรมการบีบน้ำนมได้ในครั้งแรกแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือ 5.4 ซีซี (SD = 5.0) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และปริมาณน้ำนมที่บีบได้ในครั้งสุดท้ายของกลุ่มทดลองมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 74.8 ซีซี (SD = 25.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) เมื่อปรับความแตกต่างของอายุครรภ์ ภูมิลำเนา และปรับปริมาณน้ำนมให้เท่ากันแล้ว ในแต่ละวันกลุ่มทดลองมีปริมาณน้ำนมต่อวันมากกว่ากลุ่มควบคุมเฉลี่ย 285 ซีซี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001)
สรุป: มารดาที่มีบุตรแรกเกิดเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมที่ไม่สามารถดูดนมแม่ได้ควรได้รับการส่งเสริมตามโปรแกรมการบีบน้ำนมภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยให้สามีช่วยบีบน้ำนมและบีบตามตารางการบีบน้ำนม เนื่องจากสามารถทำให้เพิ่มปริมาณน้ำนมของมารดาได้
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลแพร่ ปี 2554, January-June ปีที่: 19 ฉบับที่ 1 หน้า 100-108
คำสำคัญ
Breast milk, breast pump, quantity of breast milk, post-natal mother, โปรแกรม, การบีบน้ำนม, น้ำนมแม่, มารดาหลังคลอด