ผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มต่อพฤติกรรมการดูแลเท้าและคุณภาพชีวิตในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า
เยาวภา พรเวียง*, วิภาพรรณ หมื่นมา, พิศมัย ศรีสุวรรณนพกุล, วันทนา แก้วยองผางโรงพยาบาลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มต่อพฤติกรรมการดูแลเท้า และคุณภาพชีวิตในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มารับการรักษาที่คลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลบ้านโฮ่ง ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2554 ถึง เดือนมกราคม 2555 จำนวน 20 คน สุ่มเข้ากลุ่มตัวอย่างและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามแนวทางปกติที่เคยปฏิบัติ ใช้เวลาทดลอง 24 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า และแบบประเมินการรับรู้พลังอำนาจของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งทีมผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดของกิ๊บสัน แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลเท้าของผู้เป็นเบาหวาน และแบบวัดดรรชนีคุณภาพชีวิตใช้เฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน Diabetes-39 (D-39) ฉบับภาษาไทยผลการวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลเท้าและคุณภาพชีวิต ระหว่างกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มควบคุมหลังจากได้รับโปรแกรม แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.50 โดยคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลเท้าของกลุ่มตัวอย่างสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มต่อพฤติกรรมการดูแลเท้า และคุณภาพชีวิตในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้าจะต้องมีการติดตามและประเมินอย่างต่อเนื่องต่อไป
ที่มา
วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555, May-August
ปีที่: 22 ฉบับที่ 2 หน้า 85-97
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, empowerment, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, แผลที่เท้า, Foot ulcer, คุณภาพชี่วิต, Foot Care Behaviors, Diabetes Patients Type 2, พฤติกรรมการดูแลเท้า, ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2