ประสิทธิผลของกลุ่มบำบัดการปรับความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อความคิดอัตโนมัติทางลบและภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยจิตเวช
วัชนี หัตถพนม*, ไพรวัลย์ ร่มซ้าย, มัลลิฑา พูนสวัสดิ์
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นรรชนครินทร์ ขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของกลุ่มบำบัดการปรับความคิด และพฤติกรรมที่มีต่อความคิดอัตโนมัติทางลบและภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยใน (โรคจิต โรคซึมเศร้า และปัญหาจากการใช้สารเสพติดหรือสุรา) ของโรงพยาบาลที่มีอาการซึมเศร้า และมีผลประเมินจากแบบวัดภาวะซึมเศร้า Thai Depression Inventory ตั้งแต่ 21 คะแนนขึ้นไป อายุระหว่าง 20-60 ปี และให้ความร่วมมือในการวิจัย คัดเลือกตัวอย่างแบบสุ่มเพื่อเข้ารับการบำบัดแต่ละกลุ่มสลับเดือนกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดขนาดตัวอย่างที่มีน้อย กลุ่มทดลองได้รับการบำบัดด้วยกลุ่มการปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) 5 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที (ผู้ทำกลุ่มบำบัดเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์การทำกลุ่มบำบัดด้วย CBT) และกลุ่มควบคุมได้รับการบำบัดด้วยกลุ่มจิตบำบัดประคับประคอง สัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 60 นาที ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดโรงพยาบาลที่ให้แก่ผู้ป่วยตามปรกติ ประเมินผลด้านความคิดอัตโนมัติทางลบ ภาวะซึมเศร้าก่อนและหลังทดลอง และติดตามผลภายหลังการทดลอง 1, 3 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดอัตโนมัติทางลบ และภาวะซึมเศร้าระหว่างกลุ่มตามระยะเวลา ด้วยสถิติ repeated measure ANOVA ระยะเวลาในการศึกษา ตุลาคม 2552 – กันยายน 2554 ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มบำบัดด้วย CBT ช่วยลดความคิดอัตโนมัติทางลบ และภาวะซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อัตราการลดลงของภาวะซึมเศร้าของกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุม และลดการกลับมารักษาซ้ำเป็นผู้ป่วยในหลังจำหน่าย 6 เดือน ได้มากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 2 เท่า
 
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2555, September-October ปีที่: 21 ฉบับที่ 5 หน้า 929-941
คำสำคัญ
ภาวะซึมเศร้า, cognitive behavioral therapy, depressive symptom, negative automatic thought, supportive psychotherapy, การปรับความคิดและพฤติกรรม, ความคิดอัตโนมัติทางลบ, จิตบำบัดประคับประคอง