ผลการใช้กลุ่มเพื่อนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
เพ็ญจันทร์ ผาตินุวัติ*, ปนัดดา มณีทิพย์, ณัฐชา พัฒนา, วรรณวิภา ชาติกานนท์, พัชราภรณ์ จั่นเพชร, นภาพร เดชสำราญ
โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
บทคัดย่อ
                โรคหลอดเลือดหัวใจ จัดเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ โดยการดูแลตนเองอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ดังนั้นการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมาก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง One group pre-post test design มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้กลุ่มเพื่อนช่วยเหลือต่อความรู้ พฤติกรรมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ในเขต ตำบลช่องสะแก ตำบลไร่ส้ม และตำบลธงชัย คัดเลือกแบบสุ่มแบบมีเกณฑ์คัดเลือก ได้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 32 คน ศึกษาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม พ.ศ.2554 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผนการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเหลือ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล คือ แบบประเมินความรู้ พฤติกรรมสุขภาพ คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจของผู้ป่วย ค่าความเชื่อมั่นของแบบประเมินเท่ากับ 0.77, 0.80 และ 0.87 ตามลำดับ วิธีการดำเนินการวิจัย ดำเนินกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเหลือในสัปดาห์ที่ 1, 3 และ 7 ทำการประเมินความรู้ พฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ 1 ของการทำกิจกรรมกลุ่ม สัปดาห์ที่ 5 ติดตามเยี่ยมบ้านและในสัปดาห์ที่ 10 ประเมินความรู้ พฤติกรรมสุขภาพ คุณภาพชีวิต ครั้งที่ 2 และประเมินความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลหาค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติ paired t-test
                การศึกษาพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยความรู้ พฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิต ภายหลังเข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมโครงการเท่ากับ 11.97 และ 16.44 (p < 0.001), 76.50 และ 89.19 (p < 0.001), 84.44 และ 86.28 (p < 0.001) ตามลำดับ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการในระดับมาก จึงแสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้กลุ่มเพื่อนช่วยเหลือในการให้ความรู้ที่เป็นการส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเองอย่างชัดเจน สมาชิกทุกคนจะเป็นแหล่งที่มาของความรู้ โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้ผู้ป่วยได้ความรู้ที่ตรงกับปัญหาของตนเอง และนำไปปฏิบัติส่งผลให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2555, November-December ปีที่: 21 ฉบับที่ 6 หน้า 1219-1232
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Knowledge, ความรู้, พฤติกรรมสุขภาพ, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ, คุณภาพชี่วิต, support groups, health behavior, coronary artery disease patient, กลุ่มเพื่อนช่วยเหลือ