การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียงกับ Ibuprofen ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ
ศิษฎิคม เบ็ญจขันธ์*, ศิวาภรณ์ พุทธิวงศ์, นุชจรินทร์ บุญทัน, มัณฑนา วิจิตร, สุนทร วาปี, สุดธิมา การสมบัติโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
บทคัดย่อ
ในการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาที่เตรียมได้จากเถาวัลย์เปรียงที่ใช้ยืนยันการรักษาโรคข้อเข่าอักเสบ และเป็นการศึกษาไปข้างหน้า ใช้รูปแบบ double blind randomized control trial study ดำเนินการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในผู้ป่วย 178 คนที่มาตรวจรักษาด้วยอาการปวดเข่าของโรคข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยถูกสุ่มให้รับยาไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen) ขนาด 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อแคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูลวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลานาน 7 วัน ผู้ป่วยได้รับการประเมินผลการรักษาภายหลังการรักษา 3 วันและ 8 วัน โดยประเมินอาการทั้งหมดด้วย Visual Analogue Scale (VAS) ความสม่ำเสมอของการรับประทานยาที่ได้รับ ผลข้างเคียงของการรักษา การเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาและผลต่อเคมีในเลือด และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการรักษาที่ได้รับ ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนา Two way repeated measure ANOVA, student’s t-test, และ non-parametric test ที่เหมาะสม
ผู้ป่วย 88 คน ถูกสุ่มให้ได้รับยาไอบิวโพรเฟน และ 90 คนถูกสุ่มให้ได้รับยาแคบซูลเถาวัลย์เปรียง ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยร้อยละ 77.3 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 73.3 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง กินยาอย่างสม่ำเสมอ อาการของผู้ป่วยและความรุนแรงเฉลี่ยของการปวดหลังการรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวนผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นหรืออาการหายไปภายหลังการรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลข้างเคียงของการรักษาพบ ร้อยละ 39.77 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 35.55 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยาและเคมีในเลือดหลังการรักษาในทั้งสองกลุ่มและความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
การรับประทานยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ติดต่อกัน 7 วันมีประสิทธิผลและปลอดภัยในการรักษาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าอักเสบ ไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยยาไอบิวโพรเฟน
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2555, May-August
ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 115-123
คำสำคัญ
Knee osteoarthritis, ibuprofen, crude of Derris scandens Benth, ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง, ไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen), ข้อเข่าอักเสบ