ผลของโปรแกรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับมารดาหลังคลอดบุตรคนแรกต่อระยะเวลาและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
สุจิตรา ยวงทอง*, วิไลพรรณ สวัสดิ์พาณิชย์, วรรณี เดียวอิศเรศ
โรงพยาบาลพุทธโสธร
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลองโดยการสุ่มสองกลุ่มวัดครั้งเดียว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระยะเวลาและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโปรแกรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับมารดาหลังคลอดบุตรคนแรก ในระยะ 4 สัปดาห์หลังคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาหลังคลอดบุตรคนแรกที่หน่วยหลังคลอด โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 60 ราย ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย แล้วจับฉลากเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติของโรงพยาบาล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบประเมินระยะเวลาและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา การทดสอบที และ Mann-Whitney U test
                ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงภายหลัง 4 สัปดาห์หลังคลอด มารดาในกลุ่มทดลองมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนานกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -3.01, p = 0.002) โดยมารดากลุ่มทดลองมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่ากัน 28 วัน ขณะที่มารดากลุ่มควบคุมมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเฉลี่ยเพียง 23.60 (7.61) วัน แต่คะแนนพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งสองกลุ่มโดยรวมไม่แตกต่างกัน (t = -1.65, p = 0.052) จากผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลและผดุงครรภ์ รวมทั้งบุคลากรด้านสุขภาพนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดขณะอยู่โรงพยาบาล และติดตามปัญหาอุปสรรค และให้การสนับสนุนทางโทรศัพท์ในระยะ 1 และ 2 สัปาดห์หลังคลอดเพื่อให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานที่สุด
 
ที่มา
วารสารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2555, July-December ปีที่: 7 ฉบับที่ 2 หน้า 100-115
คำสำคัญ
breastfeeding promoting program, first-time postpartum mothers, breastfeeding duration, breastfeeding behaviors, โปรแกรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, มารดาหลังคลอดบุตรคนแรก, ระยเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, พฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่