ผลของโปรแกรมและต้นทุนต่อหน่วยของโปรแกรมช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล
กีรดา ไกรนุวัตร*, อรุณรัตน์ คันธา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การสูบบุหรี่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่จำเป็นต้องแก้ไขโดยช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ การศึกษานี้ใช้รูปแบบวิจัยกึ่งทดลอง วัตถุประสงค์วิจัยคือการวิเคราะห์ผลของโปรแกรมต่อจำนวนบุคลากรที่เลิกสูบบุหรี่และต้นทุนต่อหน่วยในการจัดโครงการ กลุ่มตัวอย่างคือบุคลากรของโรงพยาบาลหนึ่งในกรุงเทพฯ จำนวน 54 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและเปรียบเทียบตามความประสงค์ของกลุ่มตัวอย่างได้ กลุ่มละ 27 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมการอบรมต่อเนื่อง 5 วัน และประชุมเพื่อติดตามผลเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน เนื้อหาการอบรมและประชุมเป็นการฝึกให้ผู้เข้าอบรมมีพลังความเชื่อในสมรรถนะแห่งตนต่อการเลิกบุหรี่ ความรู้และทักษะการดูแลตนเองเมื่อมีอาการถอนยาและอยากยา กลุ่มเปรียบเทียบได้รับแผ่นพับการเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากแบบบันทึกบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันและแบบสอบถามก่อนและหลังเข้าร่วมการอบรม สถานที่ศึกษาวิจัยคือห้องประชุมของโรงพยาบาลเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2550 เครื่องมือวิจัยประกอบ ด้วยแบบบันทึกปริมาณบุหรี่ที่สูบที่สร้างใหม่และแบบสอบถามที่มีผู้คิดค้นมาแล้ว รวมทั้งสิ้น 33 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีอายุระหว่าง 20-56 ปี ระยะเวลาสูบบุหรี่อยู่คือ 5-38 ปี บุหรี่ที่สูบเป็นบุหรี่ที่ผลิตภายในประเทศ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ในกลุ่มทดลองมี 16 คน คิดเป็นร้อยละ 59.25 ส่วนอีก 11 คน ไม่สามารถเลิกได้แต่สามารถลดจำนวนบุหรี่ที่สูบมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยสูบ คิดเป็นร้อยละ 40.75 ในกลุ่มเปรียบเทียบไม่มีผู้ใดเลิกสูบบุหรี่ได้ ต้นทุนต่อหน่วยในจัดโครงการเท่ากับ 2,266.58 บาท ผลการวิจัยนี้สนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้เลิกสูบได้โดยการใช้พฤติกรรมบำบัดและติดตามผลเดือนละครั้งอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากโครงการมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำแต่ให้ผลในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบสูง
 
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสาธารณสุข ปี 2554, January-April ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 32-45
คำสำคัญ
Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, Smoking cessation program, self efficacy, โปรแกรมที่ช่วยให้เลิกบุหรี่, ความเชื่อในสมรรถนะแห่งตน