ผลของการประคบด้วยความร้อนตื้น การออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาและการสนับสนุนที่บ้านต่อระดับอาการปวด ข้อฝืดและการทำกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ
ทัศน์วรรณ สังฆรักษ์*, จิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์, นัยนา หนูนิล, ศุภฤกษ์ นาวารัตน์
สถานีอนามัยบ้านต้นปรง, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
บทคัดย่อ
                โรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ข้อเกิดความผิดปกติอย่างไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด อาการข้อฝืดอย่างรุนแรง และทำให้ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการประคบด้วยความร้อนตื้น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับการสนับสนุนการบำบัดที่บ้าน ต่อระดับอาการปวด ข้อฝืดและการทำกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยผู้เข้าร่วมวิจัย คือ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิที่มีระดับความรุนแรงอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงมาก จำนวน 78 คน ซึ่งถูกสุ่มมาจาก 4 ตำบล ของอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดจะถูกสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการประคบด้วยความร้อนตื้น การออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับการสนับสนุนที่บ้าน (n = 39) และกลุ่มที่ได้รับการดูแลปกติ (n = 39) โดยการสนับสนุนที่บ้านประกอบด้วย การให้ความรู้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวที่บ้านเกี่ยวกับการดูแลข้อเข่า ฝึกทักษะการประคบด้วยความร้อนตื้น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขาและให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติได้รับคู่มือการประคบด้วยความร้อนตื้นและการออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาเพื่อดูแลตนเองที่บ้าน การวัดอาการปวด อากาข้อฝืด และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ก่อนและหลังเข้าร่วมวิจัย (สัปดาห์ที่ 1, 4, 8 และ 12) โดยใช้แบบประเมิน WOMAC (Thai version) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และสถิติการทดสอบค่าที กำหนดนัยสำคัญที่ p-value ≤ .05 ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสนับสนุนมีอาการปวดเข่าลดลง มีอาการข้อฝืดลดลง และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมวิจัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .001) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ของการวิจัย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสนับสนุนสามารถลดระดับอาการปวด ลดอาการข้อฝืดได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ของการเข้าร่วมวิจัย และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของการเข้าร่วมวิจัย ผลจากการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการประคบด้วยความร้อนตื้น การออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับสนับสนุนการบำบัดที่บ้านเป็นวิธีการบำบัดที่ได้ผลในการคงสภาวะของข้อเข่า สามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิที่อยู่ชุมชนเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้
 
ที่มา
วารสารพยาบาลสาธารณสุข ปี 2554, January-April ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 64-84
คำสำคัญ
Social support, การสนับสนุนทางสังคม, osteoarthritis, โรคข้อเข่าเสื่อม, thigh muscle exercise, hot compress, การออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา, การประคบด้วยความร้อนตื้น