ผลของโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจแบบใหม่ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจต่อความสามารถในการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิต
เตือนใจ น้ำทองสกุล*, วิลาวัณย์ ถิรภัทรพงศ์, วารีรัตน์ วานิชกร, ศศิวิมล กำทรัพย์งานพยาบาลระบบงานหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นแบบติดตามไปข้างหน้า (Prospective cohort with historical control) เพื่อศึกษาความสามารถในการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิตหลังได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจก่อนกลับบ้านแบบใหม่ ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยคัดเลือกผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จำนวน 65 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมได้รับโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจแบบเดิม จำนวน 40 คน และกลุ่มศึกษาได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจแบบใหม่ซึ่งมีการวางแผนจำหน่ายอย่างเป็นระบบหลังผ่าตัดโดยแนะนำทั้งผู้ป่วยและญาติ และมีแบบบันทึกการเดินออกกำลังกายที่บ้าน จำนวน 25 คน เปรียบเทียบความสามารถในการออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินทดสอบ 6 นาที (6 minute walk test) ก่อนกลับบ้านและ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิต (SF 36) ฉบับภาษาไทย ที่ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง ณ เวลาที่ก่อนกลับบ้านและที่ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด กลุ่มศึกษามีความสามารถในการออกกำลังกายมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) แต่ไม่มีความแตกต่างกันในคุณภาพชีวิตระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษา ที่ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
ที่มา
วารสารพยาบาลศิริราช ปี 2554, July-December
ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 1-10
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ, CABG, คุณภาพชี่วิต, cardiac rehabilitation program, six-minute walk test, โปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจ, การทดสอบการเดิน 6 นาที