การใช้ยาชาลิโดเคนร้อยละสองร่วมกับอะดรีนาลินเปรียบเทียบกับลิโดเคนร้อยละสิบร่วมกับอีเฟดดรีนในการส่องกล้องโพรงจมูก
จรินรัตน์ ศิริรัตนพันธภาควิชาจักษุ โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ยาลิโดเคนร้อยละสองร่วมกับอะดรีนาลิน เปรียบเทียบกับยาลิโดเคนร้อยละสิบผสมกับอีเฟดดรีนในการส่องกล้องโพรงจมูก ผู้ป่วยได้รับการสุ่มคัดเลือกอย่างอิสระ ในการบริหารยาในจมูกทั้งสองข้าง (Randomized Control) โดยใช้กล้อง Telescope ส่องภายในโพรงจมูก แล้วเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดขณะวางผ้าสำลีชุบน้ำยาในโพรงจมูกและระดับความเจ็บปวดขณะส่องกล้อง โดยใช้แผนภูมิภาพเพื่อแสดงระดับความเจ็บปวด (Visual Analog Scale; VAS) [1-2] รวมทั้งวัดประสิทธิภาพในการส่องกล้องภายในโพรงจมูกที่ตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ ในโพรงจมูกส่วนหน้า (Anterior Nares) ผนังกั้นช่องจมูกส่วนล่าง (Inferior Turbinate) ผนังกั้นช่องจมูกส่วนกลาง (Middle Turbinate) โพรงจมูกส่วนหลัง (Posterior Choana)และโพรงจมูกด้านบนส่วนหลัง (Sphenoethmoidal Recess) เปรียบเทียบผลที่ได้ในการใช้ยาชาทั้งสองชนิด
ผลการวิจัยพบว่า มีผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษานี้ 43 คน เพศชาย 20 คน เพศหญิง 23 คน อายุเฉลี่ย 49.69±14.77 ปี ระดับความเจ็บปวดขณะวางยาชาที่ใช้ลิโดเคนร้อยละสองผสมอะดรีนาลีนเปรียบเทียบกับลิโดเคนร้อยละสิบผสมกับอีเฟดดรีนพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3.01±2.70 กับ 3.73±2.57, p = 0.05) ระดับความเจ็บปวดขณะส่องกล้องในจมูกในผู้ป่วยที่ใช้ลิโดเคนร้อยละสองผสมอะดรีนาลีน เปรียบเทียบกับลิโดเคนร้อยละสิบผสมอีเฟดดรีน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (4.48±2.79 กับ 5.01±2.81, p = 0.36) การตรวจภายในโพรงจมูกด้วยกล้องไปยังตำแหน่งต่างๆ ในโพรงจมูกพบว่า ไม่แตกต่างกันในการใช้ยาชาทั้งสองชนิด (4.56±0.55 กับ 4.49±0.59, p = 0.44) ผู้ป่วยร้อยละ 53.5 เลือกที่จะใช้ยาชาลิโดเคนร้อยละสองผสมอะดรีนาลีน ผู้ป่วยร้อยละ 32.6 เลือกที่จะใช้ยาชาลิโดเคนความเข้มข้นร้อยละสิบผสมอีเฟดดรีน ในกรณีจำเป็นต้องรับการส่องกล้องในครั้งต่อไป ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.02) ผลสรุปของงานวิจัยนี้ได้แสดงว่า ควรใช้ยาชาลิโดเคนร้อยละสองผสมอะดรีนาลีน มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับลิโดเคนร้อยละสิบผสมกับอีเฟดดรีน และยังช่วยชดเชยปัญหาการขาดแคลนยาได้ ทั้งนี้ไม่พบภาวะแทรกซ้อนในการศึกษานี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับแพทย์ในการส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูก
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ปี 2555, January-June
ปีที่: 4 ฉบับที่ 7 หน้า 13-22
คำสำคัญ
Lidocaine, ลิโดเคน, Nasal endoscopy, การส่องกล้องโพรงจมูก