ผลของการนวดต่ออาการปวดศีรษะแบบไมเกรนและความสุขสบายในผู้ป่วยโรคไมเกรน
รจนา ปุณโณทก*, นภาพร เอี่ยมละออ, กุณฑลี จริยาปยุกต์เลิศ, นิพนธ์ วรเมธกุล
ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบวัดซ้ำ 2 ครั้ง คือ หลังนวด 15 นาที และหลังนวด 30 นาที มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของการนวดต่ออาการปวดศีรษะแบบไมเกรน และความสุขสบายของผู้ป่วยไมเกรนใน 3 ครั้ง ของการปวดศีรษะแบบไมเกรน โดยศึกษาเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความปวด ระหว่างก่อนนวด หลังนวด 15 นาที และ 30 นาที ส่วนความสุขสบายเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างก่อนนวดและหลังนวด 30 นาที ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมและภายในกลุ่มทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไมเกรน 24 ราย เลือกแบบเจาะจง และใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายเข้าเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 12 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ มาตรวัดความปวดแบบตัวเลข 1-10 แบบวัดความสุขสบาย คู่มือการนวดตนเองเมื่อปวดศีรษะของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม และแบบสัมภาษณ์การเปลี่ยนแปลงหลังการนวด วิธีทดลองประกอบด้วย 1) ผู้วิจัยฝึกให้กลุ่มตัวอย่างนวดตนเองตามคู่มือการนวด 2) ให้กลุ่มตัวอย่างนวดตนเองเมื่อเกิดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนครั้งที่ 1-3 และแต่ละครั้งวัดความปวดก่อนนวด หลังนวด 15 นาที และ 30 นาที ตามลำดับ ส่วนความสุขสบายวัดเฉพาะก่อนนวดและหลังนวด 30 นาที วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และทดสอบความแตกต่างรายคู่แบบนิวแมน-คูลส์
                ผลการวิจัย พบว่า
  1. กลุ่มทดลองมีความปวดลดลง กว่ากลุ่มควบคุมในระยะหลังนวด 30 นาที ของการนวด เมื่อปวดศีรษะทั้ง 3 ครั้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (F = 4.34, 6.69 และ 6.61 ตามลำดับ, p < .05) และความสุขสบายสูงขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมในระยะหลังนวด 30 นาที เฉพาะในการนวดครั้งที่ 3 (F = 5.17, p < .05)
  2. กลุ่มทดลองมีความปวดในระยะหลังนวด 15 นาที ลดลงกว่าก่อนนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในการนวดเมื่อปวดศีรษะแบบไมเกรน ครั้งที่ 1 และ 2 (F = 1.67 และ 1.56 ตามลำดับ) และในการนวดเมื่อปวดศีรษะแบบไมเกรนทั้ง 3 ครั้ง ความปวดในระยะหลังนวด 30 นาทีลดลงกว่าก่อนนวด (F = 3.50, 2.89 และ 4.00 ตามลำดับ, p < .05) และระยะหลังนวด 15 นาที (F =  1.83, 1.33 และ 2.50 ตามลำดับ, p < .05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความสุขสบายพบว่าในระยะหลังนวด 30 นาที สูงขึ้นกว่าก่อนนวด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในการนวดเมื่อปวดศีรษะแบบไมเกรน ครั้งที่ 1 และ 2 เท่านั้น (F = 25.77 และ 14.84 ตามลำดับ, p < .05)
จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า การนวดวิธีที่กลุ่มทดลองใช้สามารถลดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนและสร้างความสุขสบาย ในผู้ป่วยไมเกรนได้ ในระยะหลังนวด 15-30 นาที การนวดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลตนเองเพื่อการลดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน อาการร่วมและเสริมสร้างความสุขสบายของผู้ป่วยไมเกรนและเป็นบทบาทอิสระของพยาบาล
 
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2550, October-December ปีที่: 14 ฉบับที่ 4 หน้า 76-89
คำสำคัญ
massage, ผู้ป่วยโรคไมเกรน, การนวด, Migraine's patients, migraine headache, comfort, การปวดศีรษะแบบไมเกรน, ความสุขสบาย