ผลของโปรแกรมการกำกับตนเองด้วยข้อมูลทางคลินิกต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สุรีพร แสงสุวรรณ*, วรรณิภา อัศวชัยสุวิกรม, พรนภา หอมสินธุ์กลุ่มสาขาการพยาบาลชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการรับประทานอาหารและระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C) ระหว่างผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับและไม่ได้รับโปรแกรมการกำกับตนเองด้วยข้อมูลทางคลินิก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนจอหอ ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รักษาด้วยการับประทานยามากกว่า 3 เดือน มีค่าน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง มากกว่าหรือเท่ากับ 7 สุ่มตัวอย่างโดยจับฉลากรายชื่อทั้ง 6 หมู่บ้านตามสัดส่วนรวม 60 คน เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการกำกับตนเองด้วยข้อมูลทางคลินิก ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยประยุกต์ทฤษฎีการกำกับตนเอง (self-regulation) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์วัดพฤติกรรมการรับประทานอาหารซึ่งวิเคราะห์ความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha Coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .75 และเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ วิเคราะห์พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ independent t-test
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมการรับประทานอาหารดีกว่า กลุ่มควบคุมและเมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง พบว่า กลุ่มทดลอง มีระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดงลดลงกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ดังนั้นการพยาบาลชุมชน ควรประยุกต์ใช้โปรแกรมการกำกับตนเองด้วยข้อมูลทางคลินิกกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อการดูแลตนเองที่ดี
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2554, July-September
ปีที่: 19 ฉบับที่ 3 หน้า 54-64
คำสำคัญ
ผู้ป่วยเบาหวาน, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร, Self-regulation, Diabetic patients, Eating behavior, Clinical information, การกำกับตนเอง, ข้อมูลทางคลินิก