ผลของโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรคและระดับความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ
สไบทิพย์ เชื้อเอี่ยม*, วารี กังใจ, รวีวรรณ เผ่ากัณหา, นัยนา พิพัฒน์วณิชชา
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช จังหวัดราชบุรี
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรคและระดับความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 60 ราย สุ่มตัวอย่างแบบง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองได้รับการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามโปรแกรมที่กำหนด ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการพยาบาลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูล 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล โดยใช้แบบประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรค ซึ่งมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .92 และค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .80 และเครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
                มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองกับระยะเวลาของการทดลอง ทั้งคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรค ((F1,58 = 164.78, p <.05), ค่าเฉลี่ยของระดับความดันซีสโตลิค (F1,58 = 23.20, p < .05)  และความดันไดแอสโตลิค (F 1,58 = 10.13, p < .05) นอกจากนี้ พบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรค ค่าเฉลี่ยของระดับความดันซีสโตลิค และระดับความดันไดแอสโตลิค หลังการทดลองและระยะติดตามผล ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
                การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรคสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตทั้งความดันซีสโดลิดและความดันไดแอสโตลิดลดลง จึงควรส่งเสริมให้มีการนำโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรคไปใช้
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2554, July-September ปีที่: 19 ฉบับที่ 3 หน้า 77-91
คำสำคัญ
Health belief model, แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ, ผู้สูงอายุ, Essential hypertension, Eating behavior, Eating behavior promotion program, older adults, โปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคเฉพาะโรค, พฤติกรรมการบริโภคอาหารเฉพาะโรค, โรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ