ผลของการสนับสนุนในระยะคลอดจากญาติใกล้ชิดต่อความเจ็บปวดความวิตกกังวลและความพีงพอใจต่อประสบการณ์การคลอดของมารดาครรภ์แรก
ศิริวรรณ ยืนยง*, นันท์นภัส รักไทยกลุ่มวิชาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
การคลอดในโรงพยาบาลอาจทำให้มารดารู้สึกโดดเดี่ยว ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด ความวิตกกังวล และสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยตามลำพัง ดังนั้นคุณภาพการดูแลช่วยเหลือที่มารดาได้รับในระหว่างการเจ็บครรภ์และการคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พยาบาลต้องให้ความสนใจ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการสนับสนุนในระยะคลอดจากญาติใกล้ชิดต่อความเจ็บปวด ความวิตกกังวล และความพึงพอใจต่อประสบการณ์การคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาครรภ์แรกที่มาคลอดในโรงพยาบาลอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี จำนวน 60 ราย สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างละ 30 ราย กลุ่มทดลองได้รับการสนับสนุนในระยะคลอดจากญาติใกล้ชิดตามที่ มารดาเลือกเองตั้งแต่เริ่มเจ็บครรภ์ถี่จนถึง 1-2 ชั่วโมงแรกหลังคลอดร่วมกับได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างเดียว เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางสูติศาสตร์ มาตรวัดความเจ็บปวดชนิดตัวเลข แบบสังเกตพฤติกรรม การเผชิญความเจ็บปวด แบบวัดความวิตกกังวลแฝงและขณะเผชิญ และแบบวัดความรู้สึกต่อประสบการณ์การคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และการทดสอบค่าที
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองมีความวิตกกังวลน้อยกว่าและมีความพึงพอใจต่อประสบการณ์การคลอดมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05 และ p = .001 ตามลำดับ) ส่วนความเจ็บปวดของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนในระยะคลอดจากญาติใกล้ชิดส่งผลให้มารดามีความวิตกกังวลน้อยลงและพึงพอใจต่อประสบการณ์การคลอดมากขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆ จึงควรอนุญาตให้ญาติใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลสนับสนุนมารดาระหว่างการเจ็บครรภ์และการคลอด
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2554,
ปีที่: 19 ฉบับที่ Supplement 2 หน้า 67-82
คำสำคัญ
pain, ความเจ็บปวด, Anxiety, ความวิตกกังวล, Labor support, satisfaction with the childbirth experience, primiparous mothers, การสนับสนุนในระยะคลอด, ความพึงพอใจต่อประสบการณ์การคลอด, มารดาครรภ์แรก