ผลการใช้โปรแกรมการกำกับตนเองร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อเจตคติเกี่ยวกับการรักษาพฤติกรรมการดูแลตนเอง และผลสำเร็จในการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอด
สุภาพ ภาสุรกุล*, ภาวนา กีรติยุตวงศ์, เขมารดี มาสิงบุญกลุ่มการพยาบาล, โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมการกำกับตนเองร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อเจตคติเกี่ยวกับการรักษา พฤติกรรมการดูแลตนเอง และผลสำเร็จในการรักษา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ที่ได้รับการรักษาระยะเข้มข้นครบ 2 เดือนแล้ว ณ คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 64 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 32 ราย ด้วยการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการกำกับตนเองร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในรูปแบบกิจกรรมกลุ่ม เดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 3 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับบริการตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับการรักษา แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเอง และแบบบันทึกผลการตรวจเสมหะ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการรักษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ บรรยายการทดสอบไคสแควร์ ฟิชเชอร์ และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยเจตคติเกี่ยวกับการรักษาและพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงกว่าก่อนการทดลอง และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) ส่วนผลสำเร็จในการรักษาของกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p >.05) จากการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การใช้โปรแกรมการกำกับตนเองร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม ช่วยให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดหลังได้รับการรักษาระยะเข้มข้นครบ 2 เดือนแล้ว มีเจตคติเกี่ยวกับการรักษา และพฤติกรรมการดูแลตนเองดีขึ้น ดังนั้นพยาบาลประจำคลินิกวัณโรคควรนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2555, October-December
ปีที่: 20 ฉบับที่ 4 หน้า 57-67
คำสำคัญ
Pulmonary Tuberculosis, Self-regulation program, attitude toward treatment, self-care behavior, tuberulosis treatment success rate, โปรแกรมการกำกับตนเอง, เจตคติเกี่ยวกับการรักษา, พฤติกรรมการดูแลตนเองม วัณโรคปอด, ความสำเร็จการรักษา