เปรียบเทียบวิธีการดูแล และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในสี่ระดับของการดูแลที่แตกต่างกัน
ปิยะวรรณ โภคพลากรณ์*, สมจิต หนุเจริญกุล, Ruth McCorkle, ทัศนีย์ ทองประทีป, อัจฉริยา ปทุมวัน, ชูเกียรติ วิวัฒน์วงศ์เกษม
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย
บทคัดย่อ
                การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและเปรียบเทียบความแตกต่างของการดูแลแบบประคับประคอง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ได้รับการดูแลในสี่ระดับและ การดูแล คือ องค์กรทางศาสนา โรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและศูนย์มะเร็งฮอสฟิซ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจำนวน 180 คนที่เข้ารับการรักษาและติดตามผลใน 4 องค์กรข้างต้น และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินการดูแลแบบประคับประคอง และแบบวัดคุณภาพชีวิต
                ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในโรงพยาบาลชุมชนมีการใช้การดูแลแบบประคับประคองสูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับการดูแลแบบประคับประคองแบบไม่ใช้ยาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในองค์กรทางศาสนามีการใช้ที่สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและศูนย์มะเร็งฮอสฟิซ ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในโรงพยาบาลชุมชนมีการใช้การดูแลแบบประคับประคองแบบไม่ใช้ยาสูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับการดูแลแบบประคับประคองแบบใช้ยาผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลชุมชนมีการใช้ยาสูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
                สำหรับคุณภาพชีวิตโดยรวมผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามในองค์กรทางศาสนา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและศูนย์มะเร็งฮอสฟิซมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาในแต่ละด้านของคุณภาพชีวิตพบว่าผู้ป่วยในองค์กรทางศาสนา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และศูนย์มะเร็งฮอสฟิซมีคะแนนเฉลี่ยของด้านความผาสุกและภาวะเหนืออัตตาสูงกว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
                องค์กรต่างๆ มีประโยชน์ในแต่ละแง่มุมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามและครอบครัวซึ่งควรจะได้รับการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ
 
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2555, October-December ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 326-342
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Levels of palliative care services, Advanced cancer, ระดับของการดูแลแบบประคับประคอง, มะเร็งระยะลุกลาม