ผลของเตียงคลอด PSU ต่อระยะเวลา ความปวด และความสุขสบายในระยะที่ 2 ของการคลอดในมารดาไทยครรภ์แรก
ศศิธร พุมดวง*, บุญเรือง มานะสุรการ, กิตติ รัตนสมบัติ, สุกิจ มหัธนันท์, กัลยา มณีโชติ, เบญจมาศ จันทร์อุดม, สมบูรณ์ แก้วนาคภาควิชาการพยาบาลสูติ-นรีเวชและผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลการใช้เตียงคลอด PSU (Prince of Songkla University) ที่ประดิษฐ์ขึ้นต่อระยะเวลาในระยะที่ 2 ของการคลอด ความปวดและความตึงเครียดจากการปวด การปวดหลังส่วนล่าง และความสุขสบายของมารดาไทยครรภ์แรกในระยะที่ 2 ของการคลอด
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยมารดาไทยครรภ์แรกจำนวน 240 ราย ซึ่งได้รับการสุ่มแบบบล็อก กลุ่มละ 60 ราย สุ่มมารดาเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มใช้เตียงคลอด PSU ไม่มีบาร์โหน กลุ่มเตียงคลอด PSU มีบาร์โหน กลุ่มเตียงคลอดปกติศีรษะสูง 45-60º และกลุ่มเตียงคลอดปกติศีรษะสูง 15º เก็บข้อมูลด้านประชาการ ด้านสูติศาสตร์และด้านทารกโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้น ข้อมูลด้านประชากรได้จากการซักถามมารดา ข้อมูลด้านสูติศาสตร์และทารกได้จากแบบบันทึกในห้องคลอด เก็บข้อมูลประสบการณ์ความปวด ความตึงเครียดจากความปวด การปวดหลังส่วนล่าง และความสุขสบายโดยใช้มาตรวัดด้วยสายตา (100 mm VAS)
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย, ANOVA, Kruskal-Wallis test, Mann-Whitney U test และ Chi-square ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามารดาที่ใช้เตียงคลอด PSU ไม่มีบาร์โหน และเตียงคลอด PSU มีบาร์โหน มีระยะเวลาในระยะที่ 2 ของการคลอด ความปวดและตึงเครียดจากการปวดและการปวดหลังส่วนล่างน้อยกว่าและมีความสุขสบายมากกว่ามารดากลุ่มใช้เตียงคลอดปกติศีรษะสูง 45-60º และกลุ่มใช้เตียงคลอดปกติศีรษะสูง 15º อย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวได้ว่าเตียงคลอด PSU เป็นเตียงที่ช่วยย่นเวลาในระยะที่ 2 ของการคลอด ลดปวด ลดความตึงเครียดจากการปวด ลดการปวดหลังส่วนล่าง และเพิ่มความสุขสบายให้กับมารดาไทยครรภ์แรกในระยะที่ 2 ของการคลอด
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2556, January-March
ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 56-67
คำสำคัญ
labor pain, Primiparous women, ความสุขสบาย, มารดาครรภ์แรก, PSU birthing bed, Duration of second-stage labor, Comfort level, Lower back pain, เตียงคลอด PSU, การเจ็บครรภ์, เวลาของระยะที่ 2 ของการคลอด, การปวดหลังส่วนล่าง