การศึกษาเบื้องต้นเปรียบเทียบประสิทธิภาพของฮอร์โมน proluton depot และยา nifediine ในการยับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามในโรงพยาบาลศิริราช
สายฝน ชวาลไพบูลย์*, อนุวัฒน์ สุตัณฑวิบูลย์, กาญจนา พิมล, ราตรี ศิริสมบูรณ์, สุพร วรพิทักษานนท์Division of Maternal-Fetal Medicine, Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok, Thailand 10700
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ, อัตราความสำเร็จ และภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในครรภ์จากการใช้ยา proluton depot และ nifedipine ในการยับยั้งอาการเจ็บครรภ์ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บคลอดก่อนกำหนดคุกคาม
ชนิดการวิจัย: การศึกษาแบบสุ่ม
วัสดุและวิธีการ: ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551-31 พฤษภาคม พ.ศ.2551 สตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามจำนวน 40 ราย ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 28-35 สัปดาห์ ได้เข้าร่วมในงานวิจัยนี้ สตรีกลุ่มดังกล่าวจะได้รับการยับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามแบบสุ่มด้วยฮอร์โมน proluton depot ขนาด 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามสัปดาห์ละครั้งหรือ nifedipine ขนาด 20 มิลลิกรัมทางปาก ทุก 30 นาที จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นต่อด้วย nifedipine SR ขนาด 20 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง จนถึงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ในกรณีที่หออภิบาลทารกแรกคลอดเต็ม การยับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดจะดำเนินต่อจนถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากฮอร์โมน proluton depot หรือ nifedipine จะเปลี่ยนวิธีการยับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดไปใช้ยา bricanyl ทางหลอดเลือดหรือยา magnesium sulphate ต่อไปตามลำดับ
ผลการศึกษา: สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามจำนวน 40 ราย ได้เข้าร่วมในการศึกษา 18 รายถูกยังยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยฮอร์โมน proluton depot ในขณะที่ 22 รายได้ยา nifedipine ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ประสิทธิภาพของยา การคลอดและข้อมูลพื้นฐานของทารกแรกคลอด
สรุป: proluton depot และ nifedipine สามารถนำมาใช้ในการยับยั้งอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามได้สำเร็จ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนของยาทั้ง 2 ตัว สำหรับ proluton depot ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ายา nifedipine อย่างไรก็ตามยังต้องการการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของยาทั้ง 2 ในการป้องกันขบวนการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคามไม่ให้เป็นภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เพื่อช่วยลดทารกก่อนกำหนด ความพิการและการตายของทารกแรกคลอด
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2552, January
ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 23-29
คำสำคัญ
Nifedipine, Proluton depot, tocolytic, threatened preterm labour