การประเมินความเหมาะสมการตรวจติดตามระดับยาในเลือดของยา Lithium
ฉวีวรรณ รัตนจามิตร, สุชาดา สูรพันธุ์, ฐิติมา ด้วงเงิน, วุฒิไกร แว่นไวศาสตร์, ลักษมี สุวรรณชวลิต, ศิวพร สุวรรณศิริ, โศภิษฐ์ จันทสโร, อิสรี ยาเนตร
Department of Clinical Pharmacy, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Prince of Songkla University, Songkhla 90110, Thailand. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
การศึกษานี้ประเมินความเหมาะสมของกระบวนการตรวจติดตามระดับยาในเลือด (Therapeutic drug monitoring, TDM) ของยา lithium เก็บข้อมูลแบบย้อนหลังโดยการทบทวนแฟ้มประวัติผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา lithium และมีการสั่งทำ TDM ณ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคจิตเวช ระหว่างมกราคม พ.ศ. 2547 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2548 ประเมินความเหมาะสมของการทำ TDM 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อบ่งชี้ในการสั่งทำ (2) เวลาในการเก็บตัวอย่างเลือดและ (3) การนำข้อมูลระดับยามาพิจารณาร่วมกับข้อมูลการตอบสนองทางคลินิกในการตัดสินใจปรับ/เปลี่ยนขนาดยาโดยใช้เกณฑ์ที่ดัดแปลงจาก Morecambe Bay Shared Care Guideline ปี พ.ศ. 2546 จากตัวอย่างจำนวน 60 ราย ผู้ป่วยบางรายได้รับการทำ TDM มากกว่า 1 ครั้ง จึงได้ข้อมูลทั้งหมด 91 ครั้ง พบว่า การเจาะวัดระดับยามีข้อบ่งชี้เหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ (72.5%) ได้แก่ วัดเมื่อเริ่มการรักษาหรือติดตามการรักษา (41.8%) สงสัยระดับยาอยู่ในช่วงที่เกิดพิษ 15.4% ประเมินความร่วมมือการใช้ยา 5.5% ประเมินหลังเปลี่ยนรูปแบบการให้ยา 5.5% และการรักษาไม่ได้ผล 4.4% แต่พบการตรวจวัดระดับยาเป็นประจำในผู้ป่วยในโดยไม่มีข้อบ่งชี้ 25 ครั้ง (27.5%) ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมและเกินจำเป็น การประเมินความเหมาะสมของเวลาในการเก็บตัวอย่างในผู้ป่วยนอกไม่ มีบันทึกชัดเจนเกี่ยวกับความร่วมมือในการใช้ยา และมี 1 รายที่ขาดยามา 4 วัน ส่วนผู้ป่วยในมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ อย่างชัดเจน และพบว่าเวลาเก็บตัวอย่างมีความเหมาะสมทั้ง 37 ครั้ง (40.6%) จากข้อมูลทั้งหมด มีการบันทึกระดับยาในเลือด 83 ครั้ง (91.2%)และในจำนวนนี้มีระดับยาอยู่นอกช่วงการรักษา 37 ครั้ง (44.6%) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาร่วมกับการตอบสนองทางคลินิกมีเพียง 12 ครั้งเท่านั้นที่ควรปรับรูปแบบการใช้ยา แต่แพทย์ ได้ปรับเปลี่ยนขนาดยาในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น เช่น ในผู้ป่วยที่ แพทย์สงสัยว่าเกิดอาการพิษเนื่องจากระดับยาสูง 14 ครั้ง มีระดับยาสูงกว่าช่วงการรักษา (> 1.2 mmol/L) 9 ครั้ง แต่แพทย์ได้ปรับลดขนาดยา 1 ครั้ง หยุดยา 3 ครั้ง และจ่ายยาในขนาดเดิม 5 ครั้ง ส่วนที่เหลืออีก 5 ครั้ง ผู้ป่วยมีระดับยาต่ำกว่าช่วงการรักษา (< 0.6 mmol/L) และแพทย์สั่งหยุดยา 3 ครั้ง และจ่ายยาแบบเดิม 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่ผลการ รักษาไม่ดีและแพทย์สงสัยว่าระดับยาต่ำกว่าช่วงการรักษา จำนวน 4 ครั้งนั้น แพทย์ปรับเพิ่มขนาดยา 3 ครั้ง พบว่ามีเพียง 33 ครั้ง (36.3%) เท่านั้นที่การตรวจติดตามระดับยาในเลือดมีความเหมาะสมครบทั้ง 3 ประเด็น (ได้แก่ ข้อบ่งชี้ เวลาในการเก็บตัวอย่าง และการประยุกต์ข้อมูลระดับยาในเลือด) โดยสรุป ข้อบ่งชี้การสั่งตรวจวัดระดับยาในเลือดเหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ แต่ควรงดสั่งเจาะเลือดเป็นประจำโดยไม่มีข้อบ่งชี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากบริการนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง การนำข้อมูลระดับยามาประยุกต์ร่วมกับการตอบสนองทางคลินิกเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษายังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย การสร้างแบบขอใช้บริการตรวจวัดระดับยาที่ระบุ ข้อบ่งชี้/เหตุผล ในการสั่งทำบันทึกการใช้ยาของผู้ป่วย การแปลผลและการตัดสินใจทางคลินิกจะเพิ่มคุณภาพของบริการให้ดี ขึ้นและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2549, November ปีที่: 89 ฉบับที่ 11 หน้า 1954-1960
คำสำคัญ
Bipolar, disorder, Drug, Lithium, Mania, monitoring, TDM, Therapeutic