การยึดตรึงสายสวนปัสสาวะด้วยพลาสเตอร์ใสเปรียบเทียบกับพลาสเตอร์ผ้าชนิดเหนียวในผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลแพร่
สุกัญญา นันทวิเชียร*, งามตา เจริญกุศล, เตือนใจ อินทรสมใจ, นิภา ปัญโญ, ประทุมพิศ ผลดีประสิทธิ์, กรกฎ พิจอมบุตร, อำพันธุ์ วงศ์วาร, สุทธินี พงษ์ศิริแสนหอผู้ป่วยพิเศษอายุรกรรม กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยพิเศษอายุกรรม ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นต้องคาสายสวนปัสสาวะ พบมีผู้ป่วยบงรายมีการเลื่อนของสายสวนปัสสาวะระหว่างการยึดตรึง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ระคายเคืองผู้ป่วยและญาติไม่พึงพอใจ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการยึดตรึงสายสวนปัสสาวะระหว่าง พลาสเตอร์ใส (Transpore) และพลาสเตอร์ผ้าชนิดเหนียว (Medipore) ในผู้ป่วยพิเศษอายุรกรรม
รูปแบบศึกษา: การทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomized controlled trial)
สถานที่: หอผู้ป่วยพิเศษอายุรกรรม โรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: ศึกษาในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงจำนวน 80 ราย ระหว่างเดือน มกราคม 2553-สิงหาคม 2553 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 40 ราย โดยการสุ่มจากการปิดผนึก จำนวน 80 ซอง เมื่อพลาสเตอร์หลุดลงบันทึกวันที่ เวลา (ชั่วโมง) ที่หลุดลงในแบบบันทึก และเปลี่ยนเป็นพลาสเตอร์ชนิดใหม่ทำสลับกันไปจนสิ้นสุดการคาสายสวนปัสสาวะ บันทึกข้อมูลทุกครั้งหลังเปลี่ยนพลาสเตอร์และติดตามผลจนถอดสายสวนปัสสาวะหรือจำหน่ายวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างกลุ่มด้วย t-test, ranksum test, exact probability test และวิเคราะห์อัตราการเกิดเหตุการณ์ด้วย การวิเคราะห์เปรียบอัตรา (rate)
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ Transpore และ Medipore เป็นชายต่อหญิง 7:9 ในกลุ่มที่ใช้ Transpore อายุฉลี่ย 72.6 ปี กลุ่มที่ใช้ Medipore อายุเฉลี่ย 75.6 ปีทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับ ลักษณะของผิวหนัง ความตึงตัวหรือเหี่ยวย่น สภาพของผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้หรือลุกเดินไม่ได้ ข้อบ่งชี้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะเมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์การเลื่อนหลุดของ Transpore และ Medipore พบว่ากลุ่ม Transpore มีการหลุด 55 ครั้ง ระยะเวลาในการติดพลาสเตอร์ 2,923 ชั่วโมง อัตราการหลุดร้อยละ 18.8 ต่อ 10 ชั่วโมง (95% Ci = 14.2, 24.5) กลุ่ม Medipore มีการหลุด 51 ครั้ง ระยะเวลาในการติดพลาสเตอร์ 7,439 ชั่วโมง อัตราการหลุดร้อยละ 6.8 ต่อ 10 ชั่วโมง (95% CI = 9.0, 51.0) พบว่า Transpore มีอัตราการหลุดมากกว่า Medipore 3 เท่า (95% CI = 6.8, 18.8) (p < 0.001)
สรุป: การใช้ Medipore ลดอัตราการเลื่อนหลุดของสายสวนปัสสาวะได้ดีกว่าการใช้ Transpore 3 เท่า จึงควรนำไปใช้เป็นมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะ
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลแพร่ ปี 2554, July-December
ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 35-40
คำสำคัญ
medical tape, urinary catheter, พลาสเตอร์ทางการแพทย์, สายสวนปัสสาวะ