คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง: ผู้ดูแลเด็กมีการรับรู้ต่างกันหรือไม่
บุษกร พันธ์เมธาฤทธิ์*, อุทัยวรรณ พุทธรัตน์, พิสมัย วัฒนสิทธิ์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งและเปรียบเทียบการรับรู้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งอายุ 6-18 ปี ระหว่างเด็กป่วยกับผู้ดูแลเด็ก เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จากโรงพยาบาล 8 แห่ง ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย กลุ่มละ 603 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับเด็กป่วยและผู้ดูแลเด็ก คือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) การรับรู้คุณภาพชีวิตของเด็กป่วยโรคมะเร็ง และ 3) การรับรู้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงและความเที่ยงของเครื่องมือชุดที่ 2-3 ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.93 และ 0.90 ตามลำดับ ผลการศึกษา พบว่า การรับรู้คุณภาพชีวิตโดยรวมของเด็กป่วยและผู้ดูแลเด็กอยู่ในระดับสูง การรับรู้คุณภาพชีวิตด้านสูงสุดทั้งของเด็กและผู้ดูแล คือ ด้านความพึงพอใจในชีวิต และด้านต่ำสุด คือ ด้านจิตใจ คะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณภาพชีวิตโดยรวมของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน (t = 1.53, p = 0.13) คะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณภาพชีวิตโดยรวมระหว่างเด็กป่วย (F = 16.38, p < 0.001) และระหว่างผู้ดูแลเด็ก (F = 10.87, p = 0.000) ในแต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น พยาบาลจึงควรคำนึงถึงการรับรู้คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันภายในกลุ่มเด็กป่วยหรือกลุ่มผู้ดูแลเด็กในแต่ละภูมิภาค และหาแนวทางส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตด้านจิตใจของเด็กโรคมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2556, May-June ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 123-135
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, CAREGIVERS, คุณภาพชี่วิต, cancer children, ผู้ดูแลเด็ก, ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง