ผลการประยุกต์อุปกรณ์พ่นยาแบบฝอยละอองต่อพฤติกรรมยอมรับการพ่นยาและผลลัพธ์ทางคลินิกในเด็กเล็กที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง
วรฤทัย กำลังหาญ, เสริมศรี สันตติ*, เรณู พุกบุญมี, พิศสมัย อรทัยโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลการประยุกต์อุปกรณ์พ่นยาแบบฝอยละอองต่อพฤติกรรมการยอมรับการพ่นยาและผลลัพธ์ทางคลินิก 4 ด้าน คือ ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับเสียงวี๊ด ในกลุ่มตัวอย่างเด็กเล็กที่มีภาวะหลอดลมเกร็งและได้รับการรักษาด้วยการพ่นยาขยายหลอดลมชนิดซัลบูตามอลด้วยเครื่องกำเนิดฝอยละอองขนาดเล็ก ในแผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรมของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด สุ่มเข้ากลุ่มโดยการโยนเหรียญ แบ่งเป็นกลุ่มทดลองซึ่งได้รับการพ่นยาด้วยอุปกรณ์แบบประยุกต์ 20 ราย และกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการพ่นยาด้วยอุปกรณ์แบบปกติ 20 ราย เก็บข้อมูลโดยวัดอาการทางคลินิกทั้ง 4 ด้านก่อนการพ่นยา และวัดหลังการพ่นยาเสร็จ 15 นาที ประเมินพฤติกรรมยอมรับการพ่นยาจากเทปบันทึกภาพเคลื่อนไหวของเด็กเล็กขณะรับการพ่นยา วิเคราะห์พฤติกรรมยอมรับการพ่นยา อัตราการเต้นของหัวใจและระดับเสียงวี๊ด ด้วยสถิติ Mann Whitney U-test วิเคราะห์ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงและอัตราการหายใจด้วยสถิติ Independent t-test ผลการวิจัยพบว่า เด็กเล็กกลุ่มที่ได้รับการพ่นยาด้วยอุปกรณ์แบบประยุกต์มีพฤติกรรมยอมรับการพ่นยามากกว่ากลุ่มที่ได้รับการพ่นยาด้วยอุปกรณ์แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผลลัพธ์ทางคลินิก ได้แก่ ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับเสียงวี๊ดระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้อุปกรณ์การพ่นยาแบบประยุกต์จะยังไม่ถูกพิสูจน์ว่ามีผลต่อผลลัพธ์ทางคลินิกตามที่คาดหวัง ซึ่งต้องการการศึกษาต่อไป แต่ส่งผลในด้านทำให้เด็กยอมรับการพ่นยามากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ได้ถูกประยุกต์ให้มีความเป็นมิตรและเหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็กเล็ก
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2556, January-April
ปีที่: 19 ฉบับที่ 1 หน้า 48-59
คำสำคัญ
ผลลัพธ์ทางคลินิก, Clinical outcomes, Bronchospasm, Small volume nebulizer, Acceptable behaviors, ภาวะหลอดลมหดเกร็ง, การพ่นยาแบบฝอยละออง, พฤติกรรมยอมรับการพ่นยา