ประสิทธิภาพของเครื่องมือให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอต่อการลดอุณหภูมิเทียบเคียงสมองในผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองรุนแรง
ทิตยา พุฒิคามิน, นิรันดร์ นายกชน*, อำนาจ กิจควรดี
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การวิจัยกึ่งทดลองนี้เป็นการศึกษากลุ่มเดียวแบบไขว้กัน (cross-over design) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอในการลดอุณหภูมิเทียบเคียงสมอง โดยเปรียบเทียบกับการใช้แผ่นความเย็น กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองรุนแรงในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บในหอผู้ป่วยระยะวิกฤตโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 13 คน แต่ละคนได้รับการให้ความเย็นทั้งสองวิธีในเวลาต่างกัน ใช้วิธีจับสลากสุ่มการให้ความเย็นวิธีแรก เครื่องมือดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 1)เครื่องมือให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น และ 2)แผ่นความเย็นโดยเครื่องมือทั้งสองชนิดใช้ร่วมกับเครื่องควบคุมอุณหภูมิรุ่น Blanketrol II ส่วนเครื่องมือเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1)เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิทางทวารหนักที่ใช้ร่วมกับเครื่อง Monitor ของ NIHON KOHDEN 2) เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิทางช่องหูด้วยรังสีอินฟาเรด และ 3)แบบประเมินอาการหนาวสั่น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย Linear Mixed Models และสถิติทดสอบ Chi-square
                ผลการศึกษา พบว่า 1) ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิขณะให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอที่วัดทางช่องหูในช่วงเวลาก่อน ระหว่างและหลังการให้ความเย็น ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่วัดทางทวารหนัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.00 2)ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิขณะให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอที่วัดทางช่องหูในเวลาต่างๆ ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิขณะใช้แผ่นความเย็น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.00, 3)ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิของผู้ป่วยขณะให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอที่วัดทางทวารหนักในเวลาต่างๆ ลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิขณะใช้แผ่นความเย็น  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.00, และ 4)อาการหนาวสั่นขณะให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอน้อยกว่าการใช้แผ่นความเย็น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
                ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอ สามารถลดอุณหภูมิเทียบเคียงสมองที่วัดทางช่องหูและไม่เกิดอาการหนาวสั่น พยาบาลควรตระหนักและให้ความสำคัญในการลดอุณหภูมิเทียงเคียงสมองในผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองรุนแรงและใช้วิธีการให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคออย่างต่อเนื่องในช่วง 72 ชั่งโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ เพื่อป้องกันภาวะไข้สูงลอยและการบาดเจ็บที่สมองระยะที่สอง นอกจากนี้วิธีดังกล่าวยังช่วยป้องกันอาการหนาวสั่นและไม่เป็นการกระตุ้นผู้ป่วยมากเกินไป
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 40-49
คำสำคัญ
Shivering, Local head-and-neck cooling, Severe brain injury, Brain temperature, การให้ความเย็นเฉพาะที่บริเวณศีรษะและคอ, ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองรุนแรง, อุณหภูมิสมอง, อาการหนาวสั่น