ผลของโปรแกรมควบคุมน้ำหนักที่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในนิสิตที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
ภัทรจิตรา สมานชาติ*, อรอนงค์ วลีขจรเลิศ, บุษบา โทวรรณา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150, E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมควบคุมน้ำหนักที่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในนิสิตที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนในหอพักของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วิธีการวิจัย: การวิจัยเป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม ตัวอย่างคืออาสาสมัคร 70 รายที่มีดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กิโลกรัม/ตารางเมตร ตัวอย่างถูกแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 35 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมกิจกรรม 3 ครั้ง ในระยะเวลา 3 เดือน กิจกรรมประกอบด้วย การให้ความรู้ การอภิปรายกลุ่ม การแจกสื่อเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง การแจกรายการอาหาร และกิจกรรมกลุ่มโดยการจัดทัวร์ตลาดน้อยและ supermarket ผลลัพธ์ที่ประเมิน คือ การเปลี่ยนแปลงของความรู้เรื่องอาหารกับการควบคุมน้ำหนัก ตัวแปรตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behavior; TPB) ความยาวรอบเอว น้ำหนักตัว และดัชนีมวลกาย
ผลการวิจัย: ในเวลา 3 เดือน กล่าที่เข้าร่วมโปรแกรมควบคุมน้ำหนัก (กลุ่มทดลอง) มีคะแนนพฤติกรรมการควบคุมอาหาร ความตั้งใจในการควบคุมอาหาร การรับรู้ความสามารถในการควบคุมน้ำหนัก และความเชื่อในบรรทัดฐานของสังคมในการควบคุมอาหารมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) หลังจากเข้าร่วมการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน กลุ่มทดลองมีการลดลงของความยาวรอบเอว น้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายจากค่าเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
สรุป: โปรแกรมควบคุมน้ำหนักที่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในนิสิตที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน สามารถส่งเสริมความรู้ ความตั้งใจ การรับรู้ความสามารถในการควบคุมน้ำหนัก และพฤติกรรมที่ดีในการควบคุมอาหาร ทำให้ความยาวรอบเอว น้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายลดลงได้ภายใน 3 เดือน แม้ว่าจะไม่ถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ โปรแกรมไม่สามารถป้องกันการกลับคืนของน้ำหนัก ความยาวรอบเอว และดัชนีมวลกายในระยะยาวหลังหยุดการแทรกแซงเป็นเวลาสามเดือน
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2553, January-June ปีที่: 2 ฉบับที่ 1 หน้า 35-45
คำสำคัญ
Obesity, โรคอ้วน, น้ำหนักเกิน, Overweight, weight control program, eating behaviors, โปรแกรมควบคุมน้ำหนัก, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร