ผลของการใช้โทรศัพท์ติดตามเพื่อลดปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาอะม็อกซีซิลลินชนิดรับประทาน
ศานตมล เสวกทรัพย์*, สงวน ลือเกียรติบัณฑิต, ศิราณี ยงประเดิม
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลทับปุด
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการโทรศัพท์เตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมดเพื่อลดปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยา Amoxycillin ชนิดรับประทานของผู้ป่วยนอก
วิธีการวิจัย: ตัวอย่างคือผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทับปุด จังหวัดพังงา จำนวน 253 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียและต้องใช้ยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ชนิดรับประทานเป็นเวลา 5 วัน ผู้วิจัยสุ่มแยกตัวอย่างเป็นกลุ่มควบคุม 115 คนและกลุ่มทดลอง 100 คน ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งสองกลุ่มได้รับคำแนะนำในเรื่องการใช้ยาและความสำคัญของการกินยาอย่างต่อเนื่องจนหมดจากเภสัชกร ผู้วิจัยโทรศัพท์ไปยังผู้ป่วยกลุ่มทดลองในวันที่ 3 หลังจากเริ่มรับประทานยาเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับประทานยาติดต่อกันจนหมด ในวันที่ 6 ผู้วิจัยโทรศัพท์ไปยังกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเพื่อสอบถามปริมาณยาที่เหลือ ผู้วิจัยปกปิดตัวอย่างถึงวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อป้องกันอคติในการวัดความไม่ร่วมมือ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ของการโทรศัพท์ว่า เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเม็ดยา อาการของโรค และปัญหาการใช้ยา
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองร้อยละ 74.0 ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งติดต่อกันทุกวันจนหมดซึ่งมากกว่าในกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 40.0) การแทรกแซงทางโทรศัพท์ลดปัญหาความไม่ร่วมมือลงร้อยละ 34 (ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 = 23-42) ความเสี่ยงสัมพัทธ์ของความไม่ร่วมมือเมื่อมีการติดตามด้วยโทรศัพท์ คือ 0.43 (ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 = 0.30-0.62) การแทรกแซงในผู้ป่วย 3 ราย สามารถลดปัญหาความไม่ร่วมมือได้ 1 ราย เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 = 2.38-4.35 ราย) กลุ่มทดลองยาเหลือร้อยละ 5.67 ของยาที่แพทย์สั่งซึ่งน้อยกว่ายาที่เหลือในกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 21.14)
สรุป: การโทรศัพท์เตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานสามารถลดปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาได้
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2555, January-June ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 17-27
คำสำคัญ
ยาปฏิชีวนะ, telephone follow-up, noncompliance, antibiotics use, pharmacist intervention, การใช้โทรศัพท์ติดตาม, ความไม่ร่วมมือในการใช้ยา, การแทรกแซงโดยเภสชักร